ทีโอที เบรกเซ็นสัญญา สามารถไอโมบาย ในการทำตลาด 3 จี รูปแบบเอ็มวีเอ็นโอ มูลค่า 1.6 หมื่นล้านบาท หลัง สตง. ระบุว่า การดำเนินการร่วมกันส่งผลให้ทีโอทีเสียเปรียบเอกชน
วันนี้ (16 ต.ค.) ที่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) นายยงยุทธ วัฒนสินธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่  ทีโอที กล่าวว่า ทีโอทีสั่งให้ทบทวนโครงการเซ็นสัญญาการให้สิทธิ์ทำตลาด 3 จี ในลักษณะเป็นตัวแทนจำหน่ายซิมในโครงการ 3 จี ทั่วประเทศ (เอ็มวีเอ็นโอ) กับ บริษัท สามารถ ไอโมบาย จำกัด (มหาชน) หลังจากทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีหนังสือระบุว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาที่ทำให้ทีโอทีเสียเปรียบเอกชนมากกว่าจะได้รับผลประโยชน์ "การทบทวนสัญญาการทำตลาดจะไม่ส่งผลกระทบต่อแผนการลงทุนขยายโครงข่าย 3 จีทั่วประเทศ ในเฟส 2 จำนวน 1.5 หมื่นสถานี มูลค่า 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งโครงการ 3 จี ทั่วประเทศเฟสแรก 5,320 สถานี จะต้องเปิดให้บริการภายในเดือนนี้" นายยงยุทธ กล่าว อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการ (บอร์ด)  ทีโอที ได้อนุมัติให้มีการอนุมัติโครงการดังกล่าวเมื่อวันที่ 24 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยให้สามารถ ไอโมบาย ได้รับสิทธิ์การทำตลาด 3 จี ทั่วประเทศ มูลค่าโครงการ 1.6 หมื่นล้านบาท ในลักษณะเอ็มวีเอ็นโอ เป็นเวลา 12 ปี ในสัดส่วน 46% จากทั้งหมด 2.88 ล้านเลขหมาย ภายใต้เงื่อนไขประกันรายได้ขั้นต่ำ 2 ปี แบ่งเป็นปีที่ 1 เพิ่มจากเดิม 156 ล้านบาทเป็น 201 ล้านบาท และปีที่ 2 เพิ่มจาก 476 ล้านบาทเป็น 593 ล้านบาท  หลังจากก่อนหน้านี้ไอโมบายได้ทำกรตลาดแบบเอ็มวีเอโอให้กับโครงการ 3 จี ในกรุงเทพและปริมณฑล จำนวน 500 สถานีฐานมาแล้ว สำหรับไอโมบาย  เป็นเพียงผู้ทำการตลาดรายเดียวจากทั้งหมด 5 ราย ที่ได้รับอนุมัติจากทีโอทีให้สิทธิ์ทำตลาด 3 จี คือ ไอโมบาย บริษัท ล็อกซ์เล่ย์ จำกัด (มหาชน) บริษัท 365 คอมมูนิเคชั่น จำกัด บริษัท ไออีซี จำกัด และ บริษัท เอ็ม คอนซัลท์ จำกัด โดยไอโมบายตั้งเป้าทำตลาด ให้ได้ 6 แสนเลขหมายภายในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ โครงการ 3 จีที่ล่าช้า ถือเป็นอุปสรรคสำคัญของทีโอที โดยก่อนหน้านี้ นายอุดม พัวสกุล ประธานบอร์ดทีโอที ได้ยื่นใบลาออก โดยสาเหตุหลักมาจากความล่าช้าในการทำงานภายในองค์กร และความตื่นตัวของพนักงานที่ไม่พร้อมทำงานเชิงรุก โดยเฉพาะโครงการ 3 จี ทั่วประเทศ ที่จนถึงขณะนี้ยังไม่แล้วเสร็จ  และเลยเวลามานานร่วมปี รวมทั้งไม่สามารถกำหนดทิศทางที่ชัดเจนให้กับทีโอทีได้ว่าจะมีแนวทางการทำธุรกิจอย่างไรที่จะพร้อมรับมือกับรายได้จากสัมปทานที่จะหายไป นอกจากนี้ จากผลประกอบการไตรมาส 2/56 ที่ผ่านมา พบว่า การดำเนินงานของทีโอที มีการขาดทุนถึง 5,986 ล้านบาท หากไม่รวมรายได้จากสัมปทาน โดยมีรายจ่าย 15,774 ล้านบาท ขณะที่รายได้อยู่ที่ 14,449 ล้านบาท

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : "ทีโอที" เบรก "สามารถฯ" ทำ 3 จี เอ็มวีเอ็นโอ

Posts related