ใกล้เวลาเต็มที่…กับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ที่ทั้ง 10 ชาติอาเซียน จะรวมตัวกันเป็นหนึ่งเพื่อสร้างตลาดทั้ง 600 ล้านคน ให้เป็นแหล่งเศรษฐกิจแห่งใหม่ในซีกโลกตะวันออก  จึงไม่ใช่เรื่องแปลก! ที่จะเห็นบรรดาภาคธุรกิจในหลายสาขา รีบปรับตัว ทั้งเชิงรุกและรับ เพื่อรองรับการไหลเข้าออกของเงินทุนจำนวนมหาศาลที่กำลังจะเกิดขึ้น ดังนั้นในช่วงเวลานี้ จึงกลายเป็นช่วงเวลาที่ทุกประเทศจะบุกเข้าไปช่วงชิง ไปสร้างอาณาจักร ส่วนแบ่งการตลาด เพื่อขยายโอกาสทำรายได้ให้แก่กิจการของตัวเอง โดยที่ไทย ถือเป็นพี่ใหญ่ของอาเซียน ได้เข้าไปปักธงในหลายธุรกิจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เรียกว่าลงทุนก่อนได้ตลาดก่อน…  อีกหนึ่งธุรกิจที่น่าจับตา คือ “ธุรกิจเพื่อความบันเทิง” โดยเฉพาะธุรกิจโรงภาพยนตร์ที่เริ่มมีการขยับตัวเพื่อรับเออีซีที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นยักษ์ใหญ่อย่าง “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” ที่เป็นเจ้าแรกในการก้าวออกไปหาโอกาสใหญ่ที่ว่านี้ “วิชา พูลวรลักษณ์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด บอกไว้ว่า เรื่องการลงทุนในเออีซีนี้ถือเป็นโอกาสที่ดี ที่ค่ายเมเจอร์ฯไม่เคยรั้งรอเพราะเห็นประโยชน์เห็นโอกาสมหาศาล จึงเร่งเดินหน้าชิงจังหวะ ประเดิมเปิดโรงหนังแห่งแรกที่ศูนย์การค้าอิออน ในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา พร้อมกัน 7 โรง การลงทุนของค่ายเมเจอร์ฯ ครั้งนี้ถือเป็นการร่วมทุนกับ 2 พันธมิตรจากอาเซียน โดยเป็นกูรูด้านโรงหนัง 2 คน คือ “ศิลา เซีย” ประธานกรรมการ บริษัท สบาย ดิจิตอล เจ้าของโรงหนังรายใหญ่ในกัมพูชา และ “แรม ปันจาบิ” ประธานกรรมการ บริษัท มัลติวิชั่น พลัส ผู้ดำเนินธุรกิจโรงหนังรายใหญ่ในอินโดนีเซีย ตั้งบริษัท แพลตินั่ม ซีนีเพล็กซ์ จำกัด มาดูแลบริหารจัดการ ทั้งนี้ “ศิลา” ได้ฉายภาพถึงพฤติกรรมชาวกัมพูชาที่เปลี่ยนไป หลังจากที่เริ่มพัฒนาประเทศ ชาวกัมพูชามีความมั่งคั่งมากขึ้น นิยมชมภาพยนตร์สูงขึ้น โดยเฉลี่ยแล้ววัยรุ่นกัมพูชาดูภาพยนตร์ 1-2 ครั้งต่อเดือน ขณะที่เด็กลงมาหน่อยจะดู 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ ทำให้รายได้จากธุรกิจโรงภาพยนตร์กัมพูชาเติบโตแบบก้าวกระโดดโดยปีที่ผ่านมาโต 50% ตลาดมีมูลค่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 330 ล้านบาท อย่างไรก็ตามการเข้าไปลงทุนของค่ายเมเจอร์ฯในครั้งนี้ได้วาดฝันเอาไว้ว่า ต้องครองรายได้ 50% ของตลาดโรงภาพยนตร์ โดยเริ่มต้นจากเป้าหมายระยะสั้นใน 5 ปีต่อจากนี้ ว่าต้องมีโรงหนังในกัมพูชาให้ได้ 40-50 โรง เพราะเป้าหมายในการรุกตลาดของค่าย    เมเจอร์ฯนั้นเมื่อเข้าไปลงทุนในประเทศใดต้องเป็นเจ้าตลาดเท่านั้น ดังนั้นการเลือกทำเลในการลงทุนต้องเป็นศูนย์การค้าระดับโลกเท่านั้น เพราะความชำนาญในการบริหารจัดการ จะช่วยลดความเสี่ยงในแง่ของจำนวนผู้มาใช้บริการโรงหนัง   แผนการรุกตลาดในเออีซีของค่ายเมเจอร์ฯ ใน 5 ปีต่อจากนี้ ได้วางเป้าหมายว่าจะต้องมีโรงหนังให้ได้ 100 โรง ใน 3 ประเทศ คือ กัมพูชา ลาว และเมียนมาร์ เพื่อผลักดันรายได้จากต่างประเทศ ตามแผนขยายธุรกิจสู่ระดับโลก โดยจะดันรายได้จากต่างประเทศในปี 62 ให้ขึ้นไปถึง 20% ของรายได้ทั้งหมด จากเวลานี้ที่มีสัดส่วนไม่ถึง 5% ค่ายเมเจอร์ฯ ได้ยืนยันหนักแน่น ที่จะไม่เข้าไปลงทุนในประเทศอินโดนีเซียแน่ แม้เป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรสูงที่สุดในเออีซี และมีมูลค่าตลาดสูงถึง 25-35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 858-  1,155 ล้านบาท เพราะมีเจ้าตลาดที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว ซึ่งก็คือ “แรม ปันจาบิ” หนึ่งในหุ้นส่วนสำคัญของค่ายเมเจอร์ฯ… เรียกง่าย ๆ ว่าไม่ไปแย่งตลาดของพันธมิตรแน่ หันมาที่ค่าย “เอส เอฟ ซีเนม่า ซิตี้” อีกหนึ่งผู้เล่นหลักในแวดวงธุรกิจภาพยนตร์ ได้เริ่มเตรียมแผนรองรับการเปิดเออีซีไว้เช่นกัน โดย “สุวิทย์ ทองร่มโพธิ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส เอฟ ซีเนม่า ซิตี้ จำกัด บอกเหมือนกันว่า เป็นโอกาสที่ดีมากที่ภาคธุรกิจต้องฉวยไว้ โดยเวลานี้ได้เริ่มหารือกับผู้ประกอบการใน 2-3 ประเทศแล้ว แต่คงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าจะได้ข้อสรุป  แม้เวลานี้ค่ายเอสเอฟฯ ไม่ได้รีบร้อนเข้าไปลงทุน เพราะมีเหตุผลสำคัญ…คือ ต้องทำการบ้านจนมั่นใจเสียก่อน ที่จะเลือกวิธีบุ่มบ่ามแล้วเข้าไป เบื้องต้น…ข้อสรุปที่ได้คือ จะไม่เข้าไปในตลาดที่แข่งขันสูง ส่วนการลงทุนในประเทศอาเซียนอื่นนั้น หากเป็นได้ก็จะต้องการลงทุนเอง 100% มากกว่า หากกฎหมายในประเทศนั้นเอื้ออำนวย  อย่างไรก็ตามความสำคัญของการทำธุรกิจของเอสเอฟฯนั้น ต้องการเน้นตลาดในประเทศให้แข็งแกร่งก่อน เพราะถือว่ามีโอกาสอีกมาก จากขณะนี้มีอยู่เพียง 35 สาขา แบ่งเป็นกรุงเทพฯ 14 แห่ง และต่างจังหวัด 21 แห่ง ซึ่งพอถึงจุดหนึ่งเมื่อเราเห็นว่าตลาดเริ่มอิ่มตัว ซึ่งน่าจะมาถึงในอีก 3-5 ปี ตอนนั้นเราจะเดินหน้าเข้าเออีซีแน่นอน หันมาที่ค่าย “กันตนา” หรือบริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) น้องใหม่แกะกล่องของวงการ ที่เริ่มเห็นโอกาสและหันเข้ามาจับธุรกิจนี้ ได้มีแผนชิงส่วนแบ่งในเออีซีเช่นกัน แต่จะให้ทำโรงหนังทั่วไปอาจยากเกินไปสำหรับมือใหม่ ต้องสร้างความต่างในรูปแบบโรงหนังชุมชนขนาดเล็ก 50 ที่นั่ง ราคาย่อมเยา เจาะกลุ่มคนรากหญ้า ซึ่ง “จาฤก กัลย์จาฤก” บอสใหญ่ของกันตนา ย้ำให้เห็นว่าจุดต่างของโรงหนังของกันตนา คือไม่ใช่เพียงแค่เป็นโรงหนังเท่านั้น แต่ด้วยความสามารถพิเศษ ทั้งจากการถ่ายทอดสด เช่น มวย หรือ คอนเสิร์ต ได้พร้อมกัน จึงทำให้เป็นจุดเด่น กันตนาหวังจะพัฒนาให้ได้ 5,000 โรง ทั่วเออีซี แต่จะเริ่มนำร่องที่ไทยก่อน  มาถึงจุดนี้…“ตลาดเออีซี” ถือเป็นเหมือนเค้กก้อนใหญ่ ที่หลายธุรกิจต่างต้องการแย่งชิง แต่ทั้งนี้คงต้องขึ้นอยู่กับความสามารถและความไว ว่าใครจะเก่งจริง! จนสามารถช่วงชิงส่วนแบ่งเค้กก้อนโตไปได้มากที่สุด. พิชชาพร อยู่เลี้ยงพันธ์

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ทุนไทยแห่เปิดโรงหนังในเออีซี ชิงเค้กก้อนใหญ่ดันรายได้พุ่ง…

Posts related