นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง จากความต้องการในประเทศ และภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มดีขึ้น แต่ทั้งนี้ ด้านการใช้จ่ายในประเทศ ทั้งของภาครัฐ และเอกชนอ่อนแรงลงเล็กน้อย เมื่อเทียบช่วง 2-3 เดือนก่อนหน้านี้ ที่สถานการณ์ทางการเมืองคลี่คลายใหม่ ๆ โดยยอมรับว่า ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่เศรษฐกิจอาจจะขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ 1.5% หากภาครัฐเบิกจ่ายงบประมาณไม่ถึง 91.4% ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้"ปัจจัยบวกของเศรษฐกิจในปีนี้ ยังคงอยู่ที่การบริโภค รายได้ภาคการเกษตร และการจ้างงาน ที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่อาจจะไม่ใช่แรงส่งในลักษณะรูปตัววี (วีเชพ) อย่างที่คาดการณ์ไว้ คงฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่เหมือนช่วงที่ผ่านมา ที่การบริโภคมีปัจจัยเสริมชั่วคราว เช่น เทศกาลบอลโลก ส่วนการส่งออกที่เป็น 0% นั้น ธปท.ได้นำมารวมอยู่ในสมมติฐานจีดีพี 1.5% ไว้แล้ว"ทั้งนี้เดือน ส.ค. มีสัญญาณการบริโภคภาคเอกชนอ่อนแรง จากการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนชะลอตัวลง เช่น อาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ จากการใช้จ่ายภาครัฐแผ่วลง หลังรัฐใช้จ่ายมากขึ้นในช่วงก่อนหน้านั้น ดังนั้นการใช้จ่ายภาครัฐที่ลดลง ทั้งการซื้อสินค้าและบริการ และการลงทุนที่ยังทำได้ค่อนข้างช้า รายได้นำส่งลดลง สะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมที่ชะลอตัวในช่วงก่อนหน้านี้ และปัจจุบันยังอยู่ในระยะเริ่มต้นของการฟื้นตัวนางรุ่ง กล่าวว่า แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจที่ออกมาโดยรวม ยังคงชะลอตัวลงทั้งภาคการส่งออก และการบริโภคที่ยังหดตัว แต่ธปท. เชื่อว่าจีดีพี ปีนี้ยังคงเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 1.5% โดยจะมีแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง จากการเบิกจ่ายภาครัฐ ที่คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมาย การใช้จ่ายของภาครัฐและเอกชน และการลงทุนจากภาครัฐและเอกชนด้วย แต่อย่างไรก็ดี มาตรการที่ออกมาขณะนี้ ยังไม่ได้ประเมินไว้ในจีดีพี ว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ เนื่องจากยังไม่เห็นมาตรการที่ออกมาเลย แต่เห็นว่ามาตรการดังกล่าว น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือมีผลในปีหน้ามากกว่าในปีนี้”ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าโดยรวมยังคงอ่อนแอ โดยมูลค่าการส่งออกลดลง 6.6% อ่อนแอลงในเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ทั้งยานยนต์เครื่องใช้ไฟฟ้า ปิโตรเคมี ขณะที่การนำเข้าลดลง 8.3% เช่นกัน ด้านการลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัวแบบไม่ต่อเนื่อง และยังไม่กระจายตัวไปในทุกภาค เพราะความต้องการโดยรวม ยังต่ำกว่าระดับปกติ อีกทั้งหลายอุตสาหกรรมยังมีกำลังการผลิตเพียงพอ หรือกำลังการผลิตยังอยู่ที่ 60.3% ส่วนความเชื่อมั่นภาคธุรกิจอยู่ที่ 49.1 และในอีก 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ 55.1 โดยผู้ประกอบการต่างประเมินว่าภาวะธุรกิจโดยรวมว่าจะปรับดีขึ้นจากปัจจุบัน สะท้อนมุมมองว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ น่าจะชัดเจนขึ้นในระยะต่อไปโดยพบว่า ข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจ 5 อันดับแรก ได้แก่ การปรับราคาสินค้าทำได้ยาก ต้นทุนการผลิตสูง ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ การแข่งขันที่รุนแรงจากตลาดในประเทศ และความต้องการจากตลาดในประเทศต่ำ ทั้งนี้ ในเดือนนี้สัดส่วนของผู้ประกอบการที่มีความกังวลเกี่ยวกับความต้องการจากตลาดในประเทศต่ำเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน สอดคล้องกับภาวะการใช้จ่ายในประเทศที่อ่อนแรงลงเล็กน้อยสำหรับเสถียรภาพในประเทศนั้น อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ เงินเฟ้อลดลงเล็กน้อย ตามราคาอาหารสดและพลังงาน ส่วนเสถียรภาพต่างประเทศ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล เล็กน้อย ที่ 239 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากก่อนหน้านี้ที่ขาดดุล 864 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการนำเข้าที่ยังมีค่อนข้างน้อย ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุล เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรระยะสั้นเพื่อทำกำไร โดยมีเงินทุนไหลออกสุทธิ 1,033 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดือนก่อนที่มีเงินไหลเข้าสุทธิ 4,692 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกอบกับสถาบันการเงิน ชำระคืนเงินกู้ต่างประเทศระยะสั้น โดยรวมดุลการชำระเงินขาดดุล สัดส่วนเงินสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ระยะสั้นอยู่ในเกณฑ์มั่นคง

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ธปท.หวั่นจีดีพีไม่ถึง1.5%

Posts related