ยอมรับว่าช่วง 3-4  ปีที่ผ่านมา ข้าวไทยค่อนข้างเผชิญกับสารพัดวิกฤติ ทั้งการเสียแชมป์การส่งออกอันดับ 1 ของโลก ให้แก่อินเดีย 2 ปีรวดแถมยังต้องเสียแชมป์ข้าวหอมสายพันธ์ุคุณภาพดีหอมที่สุด และอร่อยที่สุดเบอร์  1 ของโลก ให้แก่เมียนมาร์และกัมพูชา ถึง 3 ปีรวด  สำหรับข้าวที่ดีที่สุดในโลกนั้นข้าวหอมมะลิไทย 105 ครองตำแหน่งเบอร์ 1 ของโลกมาตลอด แต่ในปี 54 ต้องเสียแชมป์แก่ข้าวพม่าพันธุ์ “เพิร์ล ปอว์ซาน” ในปี 55 ต้องเสียแชมป์แก่ข้าว “ผกามะลิ” ของกัมพูชา และในปี 56 นอกจากต้องเสียแชมป์ให้แก่ข้าว “ผกามะลิ” ของกัมพูชาแล้วยังต้องเสียตำแหน่งให้กับข้าว “แคลโรส” จากรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ อีกด้วย เห็นแบบนี้แล้วหลายคนแทบไม่อยากเชื่อว่าเกิดอะไรขึ้นกับข้าวไทยที่ถูกแซงหน้าไปหลาย ๆ ด้านทั้งเรื่องของความอร่อยและหอมนุ่มหรือการเสียแชมป์ส่งออกทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้กว่า 30 ปีไทยเป็นแชมป์มาตลอด การเมืองทำข้าวไทยป่วน สาเหตุที่ทำให้การพัฒนาข้าวไทยไปไม่ถึงไหนมาจากนโยบายข้าวผูกติดกับการเมืองมากและพรรคการเมืองก็จะมีการตั้งราคารับซื้อที่ไม่สมเหตุสมผลเพียงแค่ต้องการชนะการเลือกตั้งโดยไม่คำนึงถึงกลไกตลาดและผลเสียที่ตามมาเพราะนักการเมืองแค่คิดตื้นเพียงหวังว่าไทยเคยเป็นผู้ส่งออกข้าวเป็นอันดับ  1 ของโลกมานานหากเก็บไว้ไม่ยอมขายสุดท้ายราคาข้าวตลาดโลกก็ต้องปรับราคาตามหลักเศรษฐศาสตร์ แต่การคิดลักษณะนี้คงลืมไปว่าไทยไม่ใช่เป็นผู้ผลิตข้าวรายใหญ่สุดของโลกแต่เป็นอันดับ  6 ของโลกหรือคิดเป็น 4.3% ของปริมาณข้าวทั้งโลกตัวอย่างเช่น ฤดูกาลล่าสุดหรือในฤดูกาลผลิตข้าว 56/57 พบว่าทั่วโลกผลิตข้าวได้  471 ล้านตันข้าวสารโดยจีนเป็นประเทศที่ผลิตได้มากสุด 141.5 ล้านตัน รองลงมาเป็นอินเดีย 103 ล้านตัน อินโดนีเซีย 37.7 ล้านตัน บังกลาเทศ 34 ล้านตัน เวียดนาม  27.7 ล้านตัน และไทย 20.5 ล้านตัน เพื่อนบ้านไล่แซงไทย ดังนั้นทำให้สังคมและภาคส่วนต่าง ๆ เริ่มมีการเรียกร้องให้ภาครัฐให้ความสำคัญเรื่องของอนาคตข้าวไทยมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในส่วนของภาคเอกชนอย่าง “ชูเกียรติ โอภาสวงศ์”  นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย มองว่ารัฐบาลชุดใหม่ควรมีกรอบในการช่วยเหลือชาวนาโดยการอุดหนุนในด้านต่าง ๆ หรือไม่ก็ใช้วิธีการประกันรายได้แต่ไม่ต้องไปบิดเบือนกลไกตลาดมากนักเพราะจะยิ่งทำให้เกิดปัญหาเหมือนกับ 2-3 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาการผลิต เพราะทุกวันนี้ข้าวไทยมีคู่แข่งขันเพิ่มมากขึ้นทั้งในส่วนของข้าวหอม ข้าวขาวและข้าวนึ่ง รวมถึงข้าวหอมมะลิ แม้มีคู่แข่งน้อยแต่เวลานี้ประเทศเพื่อนบ้านได้พัฒนาทั้งสายพันธุ์ข้าวการตลาดอย่างรวดเร็วดังนั้นจำเป็นต้องมีการวิจัยและพัฒนาให้หนีคู่แข่งให้ได้เน้นความหอมที่นานและเมล็ดยาวเนื่องจากขณะนี้ข้าวหอมไทยเริ่มมีปัญหาเรื่องของกลายพันธ์ุ ขณะที่ข้าวขาว ควรหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรให้มีต้นทุนการผลิตที่ลดลง นอกจากนี้ควรบริหารพื้นที่ทำนาใหม่จากปัจจุบันที่นาของเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ชลประทานมีไม่เกิน 25% ของปริมาณนาต่างจากเวียดนามที่อยู่ในบริเวณชลประทาน 70-75% ซึ่งสามารถลดค่าใช้จ่ายในการผลิตได้มาก ส่วนชาวนารายย่อย ที่ีมีพื้นที่ปลูกข้าว 10-20 ไร่ ควรผลักดันให้รวมกลุ่มกันเหมือนกับเวียดนาม ที่ส่งเสริมการรวมกลุ่ม 300-400 ไร่ในพื้นที่เดียวกันโดยทำนาและเก็บเกี่ยวร่วมกัน จากนั้นจึงนำรายได้มาแบ่งกันตามสัดส่วน ซึ่งวิธีนี้สามารถลดต้นทุนได้ถึง 20% ทีเดียว แนะเรียนรู้จากเพื่อนบ้าน ขณะที่ “นิพนธ์ พัวพงศกร” นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ มองว่า หากต้องการให้ข้าวไทยมีอนาคต อันดับแรกต้องยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว แล้วจึงหามาตรการอื่นเข้ามาเป็นเครื่องมือเพื่อช่วยเหลือชาวนาเพื่อให้มีคุณภาพที่ดีขึ้นต่อไป เช่น กรณีของสหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้ รัฐบาลได้เลือกใช้วิธีการจ่ายชดเชย 70-85% ของส่วนต่างระหว่างราคาเป้าหมายกับราคาตลาด ขณะที่ญี่ปุ่นใช้วิธีจ่ายเงินชดเชยแบบตายตัวต่อไร่ รวมถึงจ่ายชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาตลาดกับต้นทุนการผลิต รวมถึงใช้วิธีประกันความเสี่ยงด้านราคาโดยรัฐอุดหนุนเบี้ยประกันบางส่วน เร่งกระจายพันธุ์ให้ทั่วถึง   ด้านกรมการข้าวเห็นว่า ปัญหาข้าวไทยคุณภาพต่ำลงมีสาเหตุมาจากเมล็ดพันธุ์ที่มีทั้งหมด 4 แบบ คือพันธุ์คัด, พันธุ์หลัก, พันธุ์ขยาย, พันธุ์จำหน่าย โดยเฉพาะพันธุ์จำหน่ายคือ เมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรสามารถนำไปปลูกและขายเป็นข้าวเปลือกกับโรงสีหรือเก็บไว้บางส่วนเพื่อทำเมล็ดพันธุ์ปลูกต่อได้แต่ปลูกต่อได้ไม่เกิน 3 ฤดูไม่เช่นนั้นพันธุ์ข้าวจะเพี้ยนและคุณภาพข้าวจะไม่ดีเหมือนเดิม  แต่ในทางปฏิบัติเกษตรกรกลับเอาพันธุ์ขยายไปปลูกแล้วเก็บเกี่ยวขายให้โรงสีหมดทำให้เมล็ดพันธุ์ที่กรมการข้าวผลิตขึ้นมามีไม่พอให้กระจายถึงมือเกษตรกรอย่างทั่วถึง ส่งผลให้ชาวนาในพื้นที่ห่างไกลไม่มีโอกาสใช้เมล็ดพันธุ์ดีมีคุณภาพต้องหันไปใช้เมล็ดพันธุ์เดิม ๆ ที่กลายพันธุ์ไปหมดแล้วเพราะปลูกติดต่อกันมาหลายสิบปีส่งผลให้ผลผลิตก็ยังต่ำอีกด้วย ที่สำคัญ…หากการปลูกข้าวไม่มีการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ให้ได้ใช้กันอย่างทั่วถึงโอกาสที่ไทยจะถูกประเทศอื่นแซงหน้ามีความเป็นไปได้สูง ดังนั้นจากนี้ไปกรมการข้าวจะเปลี่ยนวิธีขายเมล็ดพันธุ์ใหม่โดยขายพันธุ์ขยาย ให้เกษตรกรเพื่อปลูกแล้วเอาผลผลิตส่งขายให้โรงสี  ส่วนพันธุ์หลักจะให้เฉพาะกลุ่มหมู่บ้าน สหกรณ์ศูนย์ข้าวชุมชนเท่านั้นที่สามารถนำไปใช้ได้เท่านั้น ขณะที่ยุทธศาสตร์พัฒนาข้าว จะเน้นยุทธศาสตร์การวิจัยและพัฒนาข้าว ยุทธศาสตร์การผลิตและการกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว และยุทธศาสตร์การต่างประเทศของกรมการข้าว โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะให้การพัฒนาศักยภาพการผลิต และรักษาคุณภาพข้าวของไทยให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ รวมถึงให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวก็ต้องมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นอกจากนี้จะให้ความสำคัญกับการกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ให้เกษตรกรอย่างทั่วถึงเช่น ศูนย์ข้าวชุมชนสหกรณ์การเกษตรภาคเอกชนผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์รวมทั้งให้ขยายผลหมู่บ้านผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้เพียงพอภายใน 3 ปี รวมถึงการกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจข้าว (โซนนิ่ง) เพื่อส่งเสริมการผลิต ต้องปฏิรูปเกษตรกรรม อย่างไรก็ตามในแง่ของคนปลูกข้าวเองแล้ว…กลับมีความเห็นที่หลากหลายโดยความต้องการหลัก คือ ความยั่งยืนในการประกอบอาชีพอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงแค่ต้องการเอาใจชาวนาโดยนำเงินมาหลอกล่อ ซึ่ง  “ระวี รุ่งเรือง” ประธานเครือข่ายชาวนา ระบุว่า ชาวนาส่วนใหญ่ต้องการให้มีการปฏิรูปภาคการเกษตรอย่างจริงจังมีการพัฒนาพันธุ์ข้าว โดยภาครัฐเข้ามาสนับสนุนด้านปัจจัยการผลิตมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาข้าวอย่างยั่งยืน  มีการวิจัยเพื่อพัฒนาด้านการแปรรูปข้าวเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีการระดมความเห็นกันจริง ๆ จัง ๆ  โดยอยากให้เป็นวาระแห่งชาติเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และรัฐบาลชุดไหนเข้ามาบริหารก็ต้องดำเนินการตามนี้ไม่อย่างนั้นพอเปลี่ยนรัฐบาลทีนโยบายข้าวก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา จนถึงเวลานี้…หากไม่มีการปฏิรูปข้าวไทยอย่างจริงจังแล้ว เชื่อว่าในอนาคตชาวนาก็ต้องพบต้องเจอกับปัญหาเดิม ๆ ที่เคยมีมาตั้งแต่อดีต แต่คราวนี้อาจเกิดสถานการณ์รุนแรงกว่าทั้งเรื่องของหนี้สินสูงต้นทุนการผลิตสูงขึ้นสุดท้ายคือการมีที่ดินทำกินน้อยลงเพราะต้องขายให้กับนายทุน!. มนัส แวววันจิตร

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : นักการเมืองทำข้าวไทยป่วนจี้รัฐปฏิรูป สร้างความยั่งยืน

Posts related