เมื่อวันที่ 30 พ.ย. ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือสดร. เปิดเผยว่า หลังจากที่นักดาราศาสตร์ทั่วโลกเฝ้าจับตาดาวหางไอซอนว่าจะแตกสลายในช่วงโคจรก่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดหรือแตกขณะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดเช้ามืดวันที่ 29 พ.ย. หรือไม่ ที่ระยะห่างเพียง 1.2 ล้านกิโลเมตรจากผิวดวงอาทิตย์ (ดาวพุธที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดห่างประมาณ 45 ล้านกิโลเมตร) และนับว่าเป็นระยะทางที่ไกลกว่าดาวหางเลิฟจอย (C/2011 W3) ที่ผ่านเข้าไปเมื่อปี พ.ศ. 2554 ถึง 8 เท่า แต่ดาวหางเลิฟจอยก็หลุดรอดออกมาได้ และเนื่องจากไอซอนเป็นดาวหางใหม่ ที่ไม่เคยโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์อย่างใกล้ชิดเช่นนี้มาก่อน จึงทำให้ดาวหางเฉียดดวงอาทิตย์ คาดเดาความเป็นไปได้ยากและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งวันที่ 29 พ.ย. เวลา 01.44 น. ตามเวลาประเทศไทย กล้องโทรทรรศน์อวกาศโซโฮ ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์ที่ใช้สำรวจดวงอาทิตย์และชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์ บันทึกภาพดาวหางไอซอนขณะโคจรเข้าสู่จุดที่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด พบว่าดาวหางไอซอนหายลับไป คาดการณ์ว่าส่วนหัวหรือนิวเคลียสได้ถูกความร้อนจากดวงอาทิตย์เผาไหม้ระเหิดไปจนหมดสิ้น ถือเป็นวาระสุดท้ายของดาวหางใหม่ดวงนี้ ทำให้นักดาราศาสตร์ทั่วโลกที่ติดตามดาวหางดวงนี้มาแรมปีแทบหมดหวังกับการแตกสลายของดาวหางไอซอน แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีการจับตาดูการโคจรขณะออกมาจากอีกด้านหนึ่งของดวงอาทิตย์อย่างต่อเนื่อง จนผ่านไปหลายชั่วโมงพบว่าดาวหางไอซอนยังคงเหลือรอดออกมาจากดวงอาทิตย์ในสภาพที่เศษซากของนิวเคลียสและหางฝุ่นสว่างมากพอสมควรและคาดว่าจะสว่างขึ้นเรื่อยๆ แต่จะเห็นได้สว่างแค่ไหน อย่างไร และนานอีกแค่ไหน ยังไม่มีใครทราบ แน่ชัด คงต้องติดตามกันต่อไป.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : นักดาราศาสตร์จับตาไอซอนลุ้นเห็นอีกครั้งหลังเกือบดับสลายเมื่อเฉียดดวงอาทิตย์

Posts related