ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศที่กินเวลามายาวนานกว่า 7-8 ปีสั่งสมผลกระทบเป็นวงกว้างต่อทั้งสังคมและเศรษฐกิจโดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวที่หมดมนต์เสน่ห์สยามเมืองยิ้มแถมฉุดรายได้หายไปกว่า 1.4 ล้านล้านบาทกำลังซื้อหดหาย ต่างชาติขาดความเชื่อมั่น ฯลฯ เหล่านี้ล้วนบั่นทอนประเทศของคนไทยทั้งชาติ ผลกระทบที่ชัดเจนเริ่มแสดงออกมาแล้วเมื่อ “สมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์” รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ได้ปรับลดเป้าหมายนักท่องเที่ยวปีนี้ลงแล้วจากเดิมคาดไว้ 26.5 ล้านคนเหลือเพียง 26 ล้านคนหลังพบว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทยผ่านสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง ช่วงวันที่ 1-2 ธ.ค. 56 เฉลี่ยเหลือเพียงวันละ 45,420 คน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของเดือน ธ.ค. 55 ที่วันละ 47,000 คน ทั้งที่เป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) ขณะที่เดือน พ.ย. ยังมีนักท่องเที่ยวสูงถึง 1.56 ล้านคนหรือเฉลี่ยวันละ 52,316 คนสูงกว่า พ.ย. 55 ที่มี 1.47 ล้านคนหรือเฉลี่ยวันละ 49,182 คน ส่วนด้านรายได้จากเดิมที่วางไว้ 13% ก็คงหายไปอีก 3% เหลือเพียง 10% เท่านั้น ทั้งนี้ปัจจัยหลักที่ทำให้นักท่องเที่ยวหายไปนั้น นอกจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองแล้วส่วนหนึ่งมาจากกฎหมายควบคุมทัวร์คุณภาพนักท่องเที่ยวของประเทศจีนที่ทำให้นักท่องเที่ยวแบบกรุ๊ปทัวร์ของจีนลดลงรวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมการประชุม (ไมซ์)และการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (อินเซนทีฟ) ดังนั้นขณะนี้คงต้องรอติดตามว่า เหตุการณ์ครั้งนี้จะยุติได้โดยเร็วแค่ไหน หากสงบได้เร็วก็ยังพอมีเวลาที่ทั้งรัฐและเอกชนเร่งกระตุ้นการท่องเที่ยวได้เต็มที่อยู่เพราะตลอด 10 เดือนที่ผ่านมาการท่องเที่ยวไทยเติบโตได้เกินเป้าหมายมาโดยตลอดระดับ 20% ขณะที่ “ศุกรีย์ สิทธิวาณิช” รองผู้ว่าการด้านการสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ยอมรับว่ามีประเทศที่ประกาศแจ้งเตือนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนนาทีนี้รวมเป็น 36 ประเทศแล้วโดยฟิลิปปินส์ ฮ่องกง ไต้หวัน โรมาเนีย ประกาศแจ้งเตือนระดับ 3 คือ ให้นักท่องเที่ยวระมัดระวังการเดินทางมาประเทศไทย ส่วนตุรกียังแจ้งเตือนในระดับ 2 ส่วน “ยุทธชัย สุนทรรัตนเวช” นายกสมาคมท่องเที่ยวในประเทศ (สทน.) กล่าวว่าขณะนี้นักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านบริษัททัวร์ลดลงไปแล้ว 30% ตั้งแต่เริ่มมีการชุมนุมฯ หากสัปดาห์หน้ายังไม่ยุติเชื่อว่าเดือน ธ.ค. นักท่องเที่ยวในประเทศจะหายไปถึง 40% และโดยเฉพาะส่วนกลางที่ปกติจะท่องเที่ยว 3 ล้านคนจะไม่มีอารมณ์ท่องเที่ยวไป 1 ล้านคน ด้าน “ปิยะมาน เตชะไพบูลย์” ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ระบุว่าเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นตั้งแต่ม็อบปิดสนามบินปี 51 จนมาถึงการขับไล่ระบอบทักษิณส่งผล กระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทยอย่างมากเพราะทำให้เอกลักษณ์สยามเมืองยิ้มหายไป  ยิ่งความขัดแย้งยืดเยื้อก็ยิ่งเพิ่มโอกาสให้คู่แข่งก้าวกระโดดไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วทิ้งไว้แต่ความเสียหายย่อยยับในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย “ในสายตาชาวต่างชาติเริ่มมองว่าไทยมีความวุ่นวายเกิดขึ้นบ่อยทำให้สังคมไม่น่าอยู่ไม่น่าท่องเที่ยวเหมือนเมื่อก่อน ขณะที่คนไทยเองก็เบื่อหน่ายทำให้รอยยิ้ม ความมีน้ำใจไมตรีจิตในการให้บริการซึ่งเคยเป็นจุดเด่นหายไปเห็นได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติขณะนี้ต่างเดินทางมาไทยน้อยลงเรื่อย ๆ แล้ว ขณะที่การท่องเที่ยวอินเซนทีฟของกลุ่มข้าราชการรัฐวิสาหกิจในประเทศก็ยกเลิกแล้วไม่น้อยกว่า 30% ส่วนนักท่องเที่ยวเอเชียก็งดเดินทางมาไทยไม่น้อยกว่า 20% แต่หันไปท่องเที่ยวประเทศอื่นแทน” ฟาก “ธนิต โสรัตน์” รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่านับตั้งแต่ไทยเข้าสู่ความวุ่นวายทางการเมืองตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ต่างสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1.4 ล้านล้านบาทจากปกติประเทศในอาเซียนจีดีพีจะขยายตัว 6–7% แต่ไทยขยายตัวแค่ 3–4% หายไปปีละ 2 แสนล้านบาท ที่เห็นชัดคือมูลค่าการส่งออกลดลงโดยมูลค่าการส่งออกคิดเป็น 65-67% ของจีดีพีแต่ขณะนี้เหลือ 60–61% เท่านั้น นอกจากนี้ยังทำให้นโยบายพัฒนาประเทศของรัฐบาลสะดุดตลอดเพราะเปลี่ยนบ่อย จึงขาดความต่อเนื่อง “สิ่งที่ไทยฝันอยากจะเป็นฮับต่าง ๆ หรือเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียนคงยากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะขณะนี้รอบบ้านเราเปิดประเทศไปกันไกลแล้วทั้งกัมพูชา ลาว เวียดนาม ทุกคนล้วนแต่พูดว่าเสียดายประเทศไทยสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจไปมากทุกอย่างดูหยุดชะงักมาสักระยะแล้ว” ด้าน “ธนวรรธน์ พลวิชัย” ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์และเศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังลดลงติดต่อกันมากว่า 8 เดือนแล้วและเดือน พ.ย. 56 นี้ถือว่าต่ำสุดในรอบ  22 เดือนเลยทีเดียวซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่ต่างปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยลงกันทั่วหน้าจนคาดว่าปีนี้ จีดีพีคงจะเติบโตเพียง 3% เท่านั้น เช่นเดียวกับ “บุญชัย โชควัฒนา” ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหารบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคยืนยันว่า ตลอด 7 ปีที่ผ่านมาไทยสูญเสียผลประโยชน์ด้านการค้าและลงทุนมหาศาลโดยผลกระทบที่เกิดต่อคนในประเทศคือกำลังซื้อที่ชะลอตัวลงเพราะไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น จึงประหยัดสำรองเงินไว้ยามฉุกเฉินทำให้เอกชนต้องชะลอการลงทุนตามด้วย แม้ว่าปัญหาการเมืองครั้งนี้ยังไม่รุนแรงและส่งผลกระทบมากเท่าการชุมนุมในปี 53 แต่ในมุมมองของชาวต่างชาติสถานการณ์ในประเทศไทยก็ยังไม่เหมาะแก่การท่องเที่ยวและการลงทุนอยู่ดี ปิดท้ายกันที่ “กลินท์ สารสิน” กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ตอกย้ำว่า ยิ่งความขัดแย้งมียาวนานมากเท่าใด ก็ยิ่งสร้างความเสียหายมากเท่านั้น หากเห็นแก่ประเทศชาติในระยะยาวอย่างแท้จริงจึงถึงเวลาแล้ว ที่ทุกฝ่ายต้องหันหน้าเข้ามาเจรจา และร่วมกันปฏิรูปประเทศไทยในทุก ๆ ด้านด้วยกันอย่างจริงใจ. ทีมเศรษฐกิจ

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : นักท่องเที่ยวขวัญกระเจิงผวาม็อบแห่เที่ยวเพื่อนบ้าน

Posts related