นายซูซุมุ อูเนโนะ ประธานคณะกรรมการหอการค้าญี่ปุ่น (เจซีซี) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการร่วมว่าด้วยการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (เจเทปป้า) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)ว่า นักลงทุนญี่ปุ่นยังไม่ประเมินสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการผลักดันร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่าจะลุกลามมากน้อยขนาดไหน แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมา 2 – 3 ปี ที่มีการชุมนุมขัดแย้งรุนแรง พบว่า จะส่งผลกระทบต่อนักลงทุนญี่ปุ่นที่จะชะลอตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทยอยู่บ้างในระยะสั้น แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้ง นักลงทุนญี่ปุ่น จะตัดสินใจ เข้ามาลงทุนตามปกติ และความขัดแย้งครั้งนี้ ยังไม่พบสัญญาณชะลอการลงทุนจากนักลงทุนญี่ปุ่น โดยปัญหาความขัดแย้งของไทย ถือเป็นบทเรียน ที่ทำให้นักลงทุนญี่ปุ่นเริ่มปรับตัว เรียนรู้ ปัญหาการเมืองของไทยแล้ว ทั้งนี้จากการประชุมร่วมกับบีโอไอถึงการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ มีประเด็นที่นักลงทุนญี่ปุ่นเป็นกังวลและเสนอให้บีโอไอพิจารณา คือ ไม่ต้องการให้บีโอไอปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุน ที่กระทบต่อห่วงโซ่การผลิตให้หายไป เพราะเป็นจุดแข็งสำคัญที่ดึงดูดการลงทุนในไทย โดยจุดยืนของหอการค้าญี่ปุ่น ยังสนับสนุนเต็มที่ต่อการกำหนดนโยบายเพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศไทย สร้างอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มระดับสูง และช่วยให้ไทยมีบทบาทสำคัญต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) และขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลก ในฐานะประเทศที่มีความน่าลงทุน นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการ บีโอไอ กล่าวว่า ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อสถานการณ์ทางการเมืองจะมีผลกระทบเพียงใดขึ้นอยู่กับ ระดับความรุนแรงของสถานการณ์ และความต่อเนื่อง จะกินระยะเวลาสั้น หรือยาวนาน ซึ่งหากสามารถควบคุมสถานการณ์ ชุมนุมภายใต้ขอบเขตก็เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบมาก เป็นกังวลแต่นักลงทุนที่ยังไม่เข้าใจหรือไม่มีประสบการณ์ในการลงทุนในไทย ซึ่งอาจเกิดความวิตกกังวลและชะลอการตัดสินใจลงทุนไปบ้าง

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : นักลงทุนญี่ปุ่นไม่สะท้านม็อบสุดซอย

Posts related