นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า โจทย์การบริหารงานของครม.ชุดใหม่ คือการคืนความสุขให้กับประชาชน โดยเฉพาะการดูแลคุณภาพชีวิต สร้างการอยู่ดีกินดีให้ประชาชนในระดับฐานราก เพื่อให้คนกลุ่มนี้มีรายได้ และมีความสามารถในการทำมาหากิน มากกว่าการใช้นโยบายประชานิยม และสิ่งที่ภาคเอกชนอยากเห็นคือ การเดินหน้าตามนโยบายต่าง ๆ เพื่อภาคเอกชนทำธุรกิจมีความคล่องตัวมากขึ้น รวมทั้งเดินหน้าปฏิรูปภาคต่าง ๆ ตามที่ประกาศไว้ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งตามกรอบเวลาที่กำหนด“รัฐบาลใหม่ มีคนเก่งเข้าไปหลายคน สร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศ และประชาชน แต่นโนบายการบริหารราชการแผ่นดินนั้น ต้องทำทุกมิติ โดยเฉพาะคนระดับล่างที่เดือดร้อนจริง ๆ ให้สามารถลืมตาอ้าปากได้ ไม่จมน้ำตาย ซึ่งตื่นขึ้นมาแล้วมีความหวัง และถึงเวลาที่ต้องแจก ก็ต้องแจก แต่ต้องให้คนเหล่านี้ทำมาหากิน ไม่ใช่รอรับอย่างเดียว อย่างนี้ถือว่าไม่สร้างสรรค์”สำหรับกรณีที่บริษัทมูดี้ส์อินเวสเตอร์ เซอร์วิส จัดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารพาณิชย์ไทยมีเสถียรภาพนั้น แสดงให้เห็นว่าธนาคารพาณิชย์ไทยมีความมั่นคง และทิศทางเศรษฐกิจเป็นบวกมากขึ้น หลังการเมืองสงบ ซึ่งส่งผลดีต่อระบบธนาคารพาณิชย์ คาดว่าจะส่งผลให้สินเชื่อของธนาคารปีนี้เติบโตได้ 8 % ตามจีดีพีที่ขยายตัว 1.5 2 % เพราะหลังจากที่มีรัฐบาล จะทำให้ภาคเอกชนขยายการลงทุนและขอสินเชื่อเพิ่มขึ้น ในช่วงที่เหลือของปีขณะที่ปี 58สินเชื่อน่าจะเติบโต 7-9 % สอดคล้องกับจีดีพีที่ประเมินว่าจะโต 5%“อย่างไรก็ดี การแข่งขันของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยยังรุนแรง เห็นได้จากช่วงเกิดวิกฤติ 15-16 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้น โดยมีต่างชาติเข้ามาถือหุ้น เพิ่มการแข่งขัน ยังสู้กันเต็มที่ แต่ที่ไม่เปลี่ยน คือการบริหารจัดการคนไทยยังให้คนไทยเป็นผู้ดำเนินการแสดง ให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของการบริหารจัดการของไทย และต้องอยู่ภายใต้กฏกติกาของสากล เช่น ความโปร่งใส การแข่งขัน การพัฒนาบุคลากร ซึ่งยอมรับว่า ปัจจุบันธุรกิจการเงินต้องการบุคลากรที่มีความรู้ภาษา ญี่ปุ่น ภาษาจีนเพิ่มขึ้น”ทั้งนี้ธนาคารได้ลงนามกับศูนย์สนับสนุนลูกค้าเอสเอ็มอี โตเกียว เมโทร โพลิแทน ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐบาลของกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่สนับสนุนและพัฒนาเศรษฐกิจเอเอ็มอี ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 30,000 บริษัท จากบริษัทในโตเกียวทั้งหมด 440,000 แห่ง โดยธนาคารจะให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับเศรษฐกิจ การลงทุนในไทย และในอาเซียน เพราะนักลงทุนจากโตเกียวสนใจลงทุนในอุตสาหกรรมประเภทเครื่องจักร และอุปกรณ์หนัก คาดว่าจะมีบริษัทเข้ามาลงทุนในไทย 50-70 บริษัท คิดเป็นมูลค่า 3,500 ล้านบาท และปัจจุบันธนาคารมีลูกค้าบริษัทญี่ปุ่น 3,000 ราย มีส่วนแบ่งการตลาด13%และตั้งเป้าหมายอีก 2 ปีข้างหน้ามีส่วนแบ่งตลาด 16%“การจะให้เอสเอ็มอีไทยอยู่รอด จะต้องสร้างความแตกต่างของสินค้าเหมือนญี่ปุ่น เพราะไม่เช่นนั้น ไม่สามารถแข่งขันกับบริษัทใหญ่ได้ และหาช่องทางการทำตลาดใหม่ ซึ่งในส่วนของธนาคาร พร้อมที่จะสนับสนุนการให้สินเชื่อ และให้ข้อมูลความรู้ด้านการตลาด เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาลงทุนให้สามารถประกอบธุรกิจอยู่รอดได้”ด้านยนายยูจิ อิซาว่า ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์สนับสนุนลูกค้าเอสเอ็มอี โตเกียว เมโทร โพลิแทน กล่าวว่า เอสเอ็มอีเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่น แต่ช่วงที่ผ่านมา ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับกำลังซื้อในประเทศที่ลดลง เนื่องจากประชากรวัยทำงานและวัยเด็กมีจำนวนที่ลดลง ขณะที่ผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีญี่ปุ่นต้องขยายตลาดในต่างประเทศ และไทยเป็นเป้าหมายที่ญีปุ่นสนับสนุนเข้ามาลงทุน เพื่อขยายศูนย์กลางในการทำธุรกิจในอาเซียน เนื่องจากมีความพร้อมด้านปัจจัยพื้นฐาน และมีทำเลที่ตั้งได้เปรียบประเทศอื่นในภูมิภาคนี้

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : นายแบงก์แนะรัฐบาลต้องทำทุกมิติ

Posts related