รุกคืบเข้ามาแล้วสำหรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน    (เออีซี) ในปี 58 ถือเป็นการรวมตัวที่สร้างบทบาทในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจให้มีความโดดเด่นมากขึ้นแต่การที่จะประกอบธุรกิจระหว่างกัน คงไม่พ้นการสื่อสารด้วยภาษา ที่ปัจจุบันไม่เพียงแต่ “ภาษาอังกฤษ” ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารกันอย่างสากลแล้ว “ภาษาไทย” ถือเป็นภาษาหนึ่งที่สำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เออีซีขับเคลื่อนไปอย่างราบรื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในกลุ่มคาบสมุทรอินโดจีนอันได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม เริ่มตื่นตัวและสนใจที่จะเรียนรู้เพื่อใช้ในการสื่อสารระหว่างผู้ประกอบการที่สามารถช่วยให้การดำเนินธุรกิจการค้าและการลงทุน ทำได้อย่างง่ายดาย  “ดร.ดลฤทัย ขาวดีเดช” อาจารย์และประธานฝ่ายส่งเสริมการรับนักศึกษาประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  กล่าวในรายการ “เศรษฐกิจติดจอ” ทางเดลินิวส์ทีวี เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา ว่า “ภาษาไทย” ถือเป็นหนึ่งในภาษาเพื่อใช้ในการสื่อสารที่มีความสำคัญเพิ่มขึ้นเนื่องจากประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของ 10 ประเทศในอาเซียนโดยภายหลังการเปิดเออีซีทั้ง 10 ประเทศสามารถเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน รวมทั้งแรงงานที่มีฝีมืออย่างเสรีส่งผลให้ภาษาไทยเป็นภาษาที่ผู้ประกอบการของแต่ละประเทศเริ่มส่งพนักงานเข้ามาเรียนเพื่อใช้ในการทำธุรกิจ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าทำไม “ภาษาไทย” กลับมามีบทบาทสำคัญต่อการสื่อสารระหว่างประเทศมากขึ้นเนื่องด้วยบรรดาเพื่อนบ้านต้องการใช้ภาษาไทย เพื่อการติดต่อสื่อสารและดำเนินธุรกิจโดยเฉพาะการแปลภาษา จึงจำเป็นต้องรู้ถึงภาษาไทยเป็นหลัก ไม่ว่าจะแปลภาษาเวียดนามหรือ พม่า หากแปลกลับมาเป็นไทยแล้ว แต่ไม่สามารถเข้าใจถึงความหมายที่ถูกต้องอาจส่งผลให้ผู้รับสารเข้าใจผิดได้และต้องยอมรับว่าการดำเนินธุรกิจภายหลังการเปิดเออีซีบางครั้งไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้ภาษาไทย เช่น การทำธุรกิจบันเทิงก็ต้องใช้ความเข้าใจในภาษาไทยโดยเฉพาะล่ามแปลที่จำเป็นต้องแปลให้เป็นภาษาอื่น หรือภาษาอื่นให้เป็นภาษาไทยจะต้องเข้าใจภาษาเป็นอย่างดีก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชาวต่างชาติต้องเข้ามาเรียนเพิ่มเติม   “ปัจจุบันมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมีนักศึกษาจากประเทศจีนมาเรียนแต่ละปีกว่า 100 ราย และนักศึกษาญี่ปุ่นขอเรียนภาษาไทยร่วมกับนักศึกษาไทยเนื่องจากต่างชาติให้ความสนใจกับภาษาไทยเพราะการที่เรียนรู้ภาษาใดภาษาหนึ่งอย่างลึกซึ้งและแตกฉานจะส่งผลดีต่อการทำธุรกิจ แต่ในทางกลับกันเด็กไทยยิ่งจำเป็นต้องเรียนรู้ภาษาหลักของตนเองเพราะความรู้น้อยลงเรื่อย ๆ ทั้งการพูด อ่าน เขียน ที่ไม่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์โดยเฉพาะปัจจุบันที่ก้าวสู่ยุคโลกาภิวัตน์ที่มีการติดต่อสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้น ซึ่งบางครั้งอาจจะใช้ผิดหลักไปบ้างทำให้ต้องมีการเตือนจากอาจารย์ผู้สอนว่าต้องใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องตามกาลเทศะ”  นอกจากนี้โรงเรียนสอนภาษาที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย นอกจากจะสอนภาษาอังกฤษหรือจีนแล้วควรเพิ่มหลักสูตรการสอนภาษาไทยเพื่อสอนให้กับชาวต่างชาติไปด้วยและต้องตระหนักถึงการผลิตสื่อเนื้อหาให้เหมาะสมกับผู้เรียน รวมทั้งแทรกวัฒนธรรมของชาติต่าง ๆ เข้าไปด้วย โดยยอมรับว่าวงการสอนภาษาไทยให้กับชาวต่างชาติยังมีไม่เพียงพอแต่ทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้เริ่มเข้าไปช่วยดูแลและอบรมอาจารย์ ที่สอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติบ้างแล้วเพราะการสอนภาษาให้กับชาวต่างชาติมีความแตกต่างกับการสอนภาษาไทยให้คนไทย ที่สำคัญภาครัฐต้องมีนโยบายส่งเสริมภาษาไทยให้ชัดเจนในการสนับสนุนโรงเรียนสอนภาษาด้วยการดูแลและพัฒนาศักยภาพอาจารย์   ผู้สอนที่สอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติและแทรกวัฒนธรรม สังคม ให้เหมาะสมที่สุดโดยใช้โอกาสดังกล่าวผลักดันภาษาประจำชาติให้เป็นที่รู้จักของประชาคมอาเซียน ซึ่งช่วยให้ความเป็นไทยแข็งแกร่งขึ้นเพราะภาษาไทยจะมีบทบาทต่อการดำเนินธุรกิจอย่างยิ่ง ทั้งนี้ยังพบว่าชาวต่างชาติเข้ามาเรียนภาษาไทยจำนวนมากเพื่อกลับไปเปิดธุรกิจสอนภาษาในแต่ละประเทศของตนเองซึ่งขณะนี้หากใครขยับเร็วย่อมได้เปรียบ ถือเป็นโอกาสที่ดีเลยทีเดียวเพราะปัจจุบันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก็เริ่มตื่นตัวกันมากขึ้นแล้ว สำหรับผู้ที่สนใจเรียนภาษาสามารถติดต่อได้ที่เว็บไซต์ของคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและศูนย์ภาษาที่ขณะนี้ได้มีการออกแบบหลักสูตรเรื่องของการเตรียมความพร้อมของภาษาในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนที่สามารถเรียนรู้ได้ทุกรุ่นทุกวัย เพื่อนำไปใช้เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น แม้ภาษาไทยไม่ใช่ภาษาสากลแต่ตอนนี้เริ่มมีความสำคัญกับต่างชาติมากขึ้น ซึ่งถือเป็นความภูมิใจอย่างยิ่ง ที่คนไทยทุกคนจะต้องช่วยกันรักษาและเผยแพร่ให้ต่างชาติได้มีส่วนร่วมในเอกลักษณ์ของไทยและที่สำคัญต้องปลูกฝังการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องตั้งแต่เด็กไม่ใช่แค่ในโรงเรียนเท่านั้น แต่ต้องเป็นทุกที่ ทุกเวลา รวมถึงสถาบันครอบครัวก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้การเรียนรู้เป็นไปได้อย่างเข้มแข็งอีกด้วย. วุฒิชัย มั่งคั่ง

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : บทบาทภาษาไทยหลังเปิดเออีซี – เออีซีกับม.หอการค้าไทย

Posts related