นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบเรื่องการปรับลดโครงสร้างหนี้สาธารณะ ครั้งที่ 1 ปีงบประมาณ 57  ด้วยการลดวงเงินก่อหนี้ของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจลง5,000 ล้านบาท รวมทั้งได้มอบหมายให้ฝ่ายประจำดำเนินการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด เพื่อวางยุทธศาสตร์ในการบริหารหนี้สาธารณะเพิ่มเติม เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจทั้งไทยและต่างประเทศยังมีความผันผวน  โดยเฉพาะปัญหาการเมืองในประเทศถือปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจ  นอกจากนี้ที่ประชุมยังมอบหมายให้สบน. เพิ่มการพิจารณาแผนการชำระหนี้เงินตราสกุลต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากมีความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนทั้งค่าเงินบาท และค่าเงินสกุลหลัก โดยเฉพาะเงินเยนที่มีการปรับตัวอ่อนค่าลงค่อนข้างมาก   พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 48% ของจีดีพี ไม่ให้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจนน่าเป็นห่วง หรือใกล้กับกรอบวินัยทางการคลังที่ 60% ของจีดีพีจนเกินไป   น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า         สาเหตุที่ทำให้ภาพรวมแผนก่อหนี้ลดลงแม้จะมีการกู้เงินให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร( ธ.ก.ส) . อีก 130,000 ล้านบาท เพื่อใช้จำนำข้าวฤดูกาลผลิต 56/57  เนื่องจากตามแผนก่อหนี้เดิมรวมโครงการเงินกู้เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทไว้  โดยระบุว่าในปีงบ 57 ต้องกู้เพื่อมาลงทุนในระยะแรกจำนวน 120,000 ล้านบาท แต่เรื่องนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญตีความ  ประกอบกับต้องรอให้รัฐบาลใหม่ตัดสินใจจึงได้ตัดการก่อหนี้ส่วนนี้ออกไป นอกจากนี้มีรัฐวิสาหกิจบางแห่งที่กู้น้อยลงจึงทำให้การก่อหนี้ภาพรวมลดลงด้วย “วงเงินกู้ที่ใช้ในโครงการรับจำนำข้าว 143,000 ล้านบาท  มาจากวงเงินกู้ใหม่ 130,000 ล้านบาท และวงเงินกู้เดิมที่ยังกู้ไม่เต็มวงเงินเหลืออยู่ 13,000 ล้านบาทนั้น เชื่อว่าเพียงพอในการบริหารจัดการ  ซึ่งเรื่องนี้ครม.ต้องหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ว่าจะสามารถกู้เงินนี้ได้หรือไม่”  

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : บอร์ดสบน.ไฟเขียวลดก่อหนี้สาธาณะลง5,000ล้านบาท

Posts related