ยาสมุนไพรมีบทบาทสำคัญในการรักษาโรค และถือเป็นหนึ่งทางเลือกนอกเหนือการรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน ข้อดีของการใช้ยาสมุนไพร คือ มีค่าใช้จ่ายน้อย ประหยัด อีกทั้งสมุนไพรยังหาได้ง่ายในท้องถิ่นไม่จำเป็นต้องซื้อหาจากร้านขายยาทั่วไป ปัจจุบันมีผู้ประกอบการหลายรายหันมาผลิตยาสมุนไพรในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งยาเม็ดแคปซูล ยาน้ำ ยาครีม ฯลฯ จำหน่ายแก่ผู้บริโภค แม้จะมีการกำกับดูแลและควบคุมการผลิตเพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ แต่ก็ยังพบผู้ลักลอบนำสเตียรอยด์ผสมลงในยาสมุนไพรเพื่อให้เกิดผลในการรักษาที่ดี และทำให้ผู้ที่ใช้ยาดังกล่าวรู้สึกว่าอาการป่วยทุเลาหายเร็วขึ้น รวมถึงมีการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ว่าสามารถรักษาโรคได้สารพัด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนดให้สเตียรอยด์เป็นยาควบคุมพิเศษ เนื่องจากเป็นยาที่มีความเป็นพิษสูง มีผลต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย การใช้ยาสเตียรอยด์จะต้องอยู่ในการควบคุมของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะถ้าหากผู้บริโภคทานยาแผนโบราณที่ปนเปื้อนยาสเตียรอยด์ เป็นระยะเวลานาน ก็อาจก่อให้เกิดอาการบวมอ้วนบริเวณท้องและหน้า แขนขาลีบ ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ไขมันในเลือดสูงความดันโลหิตสูง และอาจเกิดภาวะกระดูกพรุน เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ทำให้กระเพาะอาหารทะลุจากรายงานการวิจัยโครงการศึกษาความชุกของปัญหาการเจ็บป่วยที่เกิดจากการใช้ยาสมุนไพรที่มีสเตียรอยด์ปนเปื้อนของ อย. และคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี สำรวจ ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาจำนวน 8,876 ราย จากโรงพยาบาล จำนวน 10 แห่ง พบว่า มีผู้ป่วยจำนวน 1,985 คน มีประวัติ หรืออาการแสดงที่บ่งชี้ว่าเคยผ่านการใช้สารสเตียรอยด์มาแล้ว จากการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ยาแผนโบราณ พบว่ามีการใช้สารสเตียรอยด์เติมลงในยาแผนโบราณ ประเภทยาลูกกลอน ยาน้ำสมุนไพร และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารส่งผลให้ผู้บริโภคมีโอกาสได้รับสารสเตียรอยด์จากยาประเภทดังกล่าว หากได้รับอย่างต่อเนื่องจะยิ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ นอกจากนี้ยังพบช่องทางการวางจำหน่ายยาสมุนไพรที่มีการจำหน่ายทั่วไปตามตลาดนัด รถเร่ขายสมุนไพร ซึ่งไม่มีแหล่งที่อยู่ชัดเจน และการโฆษณาตามเคเบิลทีวี อินเทอร์เน็ต ที่มีการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ดังนั้น สคบ. จึงขอฝากถึงผู้บริโภค หากต้องการซื้อยาแผนโบราณมาใช้บริโภคจะต้องเลือกซื้อจากร้านขายยาที่มีใบอนุญาตขายยาอย่างถูกต้องหรือหากจำเป็นต้องใช้ยาแผนโบราณมารักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนซื้อหรือใช้ยาทุกครั้งรวมถึงอ่านฉลากสินค้าที่แสดงบนบรรจุภัณฑ์ โดยต้องมีการแสดงชื่อยา เลขทะเบียนตำรับยา ปริมาณของยาที่บรรจุ เลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิตชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิตและแสดงคำว่า “ยาแผนโบราณ” ให้เห็นอย่างชัดเจน อย่าหลงเชื่อการโฆษณายาแผนโบราณที่มีการอวดอ้างสรรพคุณรักษาได้สารพัดโรคเพราะอาจได้รับอันตรายจากสาร    สเตียรอยด์และสารปนเปื้อนต่าง ๆ ที่อาจเป็นอันตรายด้วย.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : บำบัดโรคอย่างปลอดภัย ห่างไกลจากสเตียรอยด์ – ไขปัญหาผู้บริโภค

Posts related