ช่วงนี้วงการซอฟต์แวร์และแอพพลิเคชั่นของไทยอยู่ในช่วงตื่นตัวและกำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศเข้ามาให้เงินทุนตั้งต้นสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการด้านไอทีของไทยหลายราย  เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศ ไทย หรือ ซอฟต์แวร์พาร์ค หนึ่งในหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการส่งเสริมและผลักดันอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของไทยก้าวสู่ระดับโลก ก็ได้เปิดโครงการ บ่มเพาะผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ (SUCCESS) ปี 2 ของดีโกอินเตอร์ เพื่อเพิ่มช่องต่อแหล่งทุน และสร้างชุมชนใหม่ให้ซอฟต์แวร์ขนาดเล็กของไทยพร้อมลุยตลาดโลก นายเฉลิมพล ตู้จินดา ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือซอฟต์แวร์พาร์ค กล่าวว่า โครงการ Success เป็นการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการซอฟต์แวร์และนวัต กรรมใหม่ที่มีผลงานออกสู่ตลาดแล้ว จำนวนกว่า 60 ราย เพื่อเข้าร่วมในการบ่มเพาะนวัตกรรมในปีนี้ ทางซอฟต์แวร์พาร์คได้เน้นเรื่องการหาแหล่งทุนมาสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น หลังจากที่ผ่านมาจะเน้นเรื่องการสร้างนวัตกรรมและการตลาดเป็นส่วนใหญ่ ที่สำคัญในปีนี้จะมีการวางเป้าหมายการเติบโตในเรื่องรายได้เพื่อทำให้ ผู้ประกอบการแต่ละรายมีพัฒนาการ และแก้ไขปัญหาที่ถูกจุด   โดยศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ ของซอฟต์แวร์พาร์ค จะเข้ามาสนับสนุนผู้ประกอบการซอฟต์ แวร์ในหลายกลุ่ม ตั้งแต่กลุ่มที่ยังมีแต่แนวคิด โดยใช้โครงการเถ้าแก่น้อยเทคโนโลยีเป็นตัวผลักดัน ส่วนกลุ่มที่มีแผนธุรกิจแล้วแต่ยังไม่ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ หรือกำลังอยู่ในส่วนของ proof of concept ทางซอฟต์แวร์พาร์คจะมีโครงการ NEC เข้ามารองรับ เมื่อผ่านทั้งสองขั้นตอนนี้แล้ว หรือเป็นผู้ประกอบการที่มีผลงานออกสู่ตลาดแล้วจะใช้โครงการ Success เข้ามาบ่มเพาะ “โครงการปีนี้จัดเป็นปีที่ 2 โดยปีที่ผ่านมามีผู้ประกอบการเทคโนโลยีเข้าร่วม 58 ราย ในรอบปีที่ผ่านมาสามารถสร้างยอดขายรวมได้มากกว่า 300 ล้านบาท ส่วนเป้าหมายยอดขายในปีนี้ทางผู้ประกอบการแต่ละรายที่เข้าร่วมโครงการจะเป็นผู้กำหนดเป้าหมายด้วยตนเองร่วมกับพี่เลี้ยง หลังจากนั้นทางซอฟต์แวร์พาร์คจะส่งทีมที่ปรึกษาเข้าประกบเพื่อให้คำปรึกษาตามแผนบ่มเพาะจนสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ภายในระยะเวลาโครงการ”  นายเฉลิมพล กล่าว  อย่างไรก็ตามสิ่งที่พิเศษของโครงการในปีนี้ คือ การจัดโปรแกรมให้ผู้ประกอบการได้พบกับกลุ่มนักลงทุน (Venture Capital : VC) ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น โดยจะมีการเตรียมการในรูปแบบต่าง ๆ ที่เหมาะกับความต้องการของกลุ่มเหล่านี้ อีกทั้งหน่วยงานภาครัฐอาจจะมีการปรับปรุงเงื่อนไขในการเข้าถึงแหล่งทุนให้มีความยืดหยุ่นมากกว่าเดิม  คาดว่าจะมีนักลงทุนหลายรายให้ความสนใจในการร่วมทุนและทำธุรกรรมการเงินด้วย นายเฉลิมพล  กล่าวต่อว่า จุดสำคัญของโครงการอีกอย่างหนึ่งคือ การสร้างเครือข่ายทางธุรกิจหรือ Community ของบริษัทซอฟต์แวร์รุ่นใหม่ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย โดยสมาชิกของกลุ่มจะสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกัน ตั้งแต่รวมตัวกันจัดตั้งโซลูชั่น ช่วยกันหาลูกค้าให้กัน แลกเปลี่ยนเทคโนโลยีระหว่างกัน แลกเปลี่ยน Resorce ภายในเครือข่ายเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และงานของลูกค้าให้เสร็จทันเวลา ถือเป็นสังคมของการเกื้อกูลที่พร้อมจะเติบโตไปด้วยกันในอนาคต และเป็นการปิดช่องว่างและข้อจำกัดของการเป็นบริษัทซอฟต์แวร์ขนาดเล็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนเรื่องการเจาะตลาดต่างประเทศนั้น ทางซอฟต์แวร์พาร์คจะมีกิจกรรมสร้างโอกาสทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศที่ติดต่อไว้มากขึ้น ขณะเดียวกันสมาชิกของกลุ่มนี้ก็มีแนวโน้มจับตลาดในระดับโลกมากขึ้น อีกทั้งมีการจ้างแรงงานจากต่างประเทศ รวมถึงการร่วมทุนจากต่างประเทศด้วย สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการในโครงการ Success ปี ค.ศ. 2014 มีผลงานที่น่าสนใจ อาทิ บจก. ลิทเทิล บิ๊ก ลิงค์ส  (Surveycan) ผู้จัดทำแบบสอบถามออนไลน์ ประมวลผลแบบเรียลไทม์ และยังเป็นผู้ผลิตเกมออนไลน์ pirate king ด้วย, บจก.บางกอกแอพ (golfdigg) ผู้จัดทำระบบจองสนามกอล์ฟแบบออนไลน์ ที่คว้ารางวัลต่าง ๆ มากมาย, บจก.Consulto Soft (Consulto CRM) ซึ่งทำโปรแกรม  CRM BPM SaleForce&Project Mgt Soltion เป็นปีแรก แต่ได้รับการตอบรับจากลูกค้าองค์กรจำนวนมาก บจก. Niramit render farm (ระบบตรวจจับการรั่วไหลของสารเคมี) จากผู้ผลิต render farm ปรับตัวมาเป็นระบบที่ซับซ้อนจับกลุ่มงานเพื่อสิ่งแวดล้อมแทน, บจก. Appman ผู้รับทำแอพพลิเคชั่นโมบาย ผู้ทำแอพพลิเคชั่นชื่อดังหลายอย่าง เช่น แอพพลิเคชั่นเรือด่วนเจ้าพระยา, บจก.อีเอสเอ็ม โซลูชั่น (EMR-LIFE (Medical record Service Provider) ซอฟต์แวร์ทางการแพทย์ที่คุณหมอสามารถจัดทำรายงานในแบบฉบับของตัวเองได้, บจก.อินเทลลิเจ็นซ์ ซิสเท็ม คอร์เปอร์เรชั่น (Insysc ERP) ถือเป็น ERP แนวใหม่ที่ทำให้รู้ต้นทุนได้ทุกกระบวนการ ถือว่าเป็นบริษัทที่แหล่งทุนให้ความสนใจอย่างมาก และกำลังจะมีข่าวดีในเร็ว ๆ นี้ บจก. Dreamaker  (Crowdfunding Platform) เป็นแพลตฟอร์มสำหรับ Start-up ที่ต้องการเงินลงทุน เข้ามาทำโครงการของตัวเองโดยเป็นการระดมทุนจากคนทั่วไปรายแรกของเมืองไทย, บจก. Bumbliss ผู้จัดทำแอพพลิเคชั่น รีวิวร้านอาหาร และอื่น ๆ ที่เน้นความสวยงามน่าใช้ กุ๊กกิ๊ก สไตล์ญี่ปุ่น, บจก.ไอทูเอ็ม อินโนเวชั่น (Platform e-Learning) ผู้รวบรวมติวเตอร์ทั่วประเทศเข้ามาอยู่ด้วยกัน ให้เด็กเรียนออนไลน์กันอย่างสนุกสนาน, บจก. เอเชียวันคลิก ที่กำลังโด่งดัง เพราะสามารถจองโรงแรม จองตั๋วเครื่องบินในราคาถูก, บจก.โลเคิลอไลค์ (ระบบจัดการท่องเที่ยวชุมชน) เป็นแพลตฟอร์มตัวกลางในการรับทัวร์ในการเที่ยวชุมชนทั่วประเทศไทย ซึ่งมีลูกค้าชาวต่างชาติสนใจและใช้บริการจำนวนมาก และ บจก.Appsolutesoft (i-Butler) หรือที่รู้จักกันในนาม fourleaf ที่คว้ารางวัลทั้งในและต่างประเทศมามากมาย นับว่าเป็นกลุ่มผู้ประกอบการด้านซอฟต์แวร์ที่มีผลงานน่าสนใจทั้งสิ้น และเมื่อเข้าร่วมโครงการ SUCCESS ในปีนี้แล้ว คงได้เห็นผลงานเหล่านี้ออกสู่ตลาดโลกในไม่ช้า พร้อมกับสร้างยอดขายนำเงินเข้าประเทศได้ไม่น้อย.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : บ่มเพาะผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ปี 2 – ฉลาดสุดๆ

Posts related