ควันของการยึดอำนาจโดย คสช. ยังไม่ทันจางก็มีข่าวลือส่งต่อกันในโลก โซเชียลมีเดีย ราวกับไฟลามทุ่งว่า คสช.จะทำการปฏิรูปพลังงานอย่างพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน บ้างก็อ้างว่าจะมีการยึดปตท.กลับคืนมาเป็นของรัฐหรือไม่ก็จะมีการปลดบอร์ดยกชุด บ้างก็บอกว่าจะมีการลดราคาน้ำมันลง 20-30% อดีตส.ว.บางคนก็ออกมาเสนอแนะคสช.ให้ลดราคาก๊าซแอลพีจีภาคครัวเรือนที่มีการขึ้นราคาไปแล้วทุกเดือน เดือนละ 50 ส.ต.ต่อกก. โดยให้ลดลงมาอยู่ที่ราคาเดิมก่อนปรับขึ้นไปคือที่ 18.13 บาทต่อกก. บางคนไปไกลถึงขนาดทำรูปเผยแพร่ใน โซเชียล มีเดีย เลยว่า ในเมื่อรัฐธรรมนูญยังฉีกได้ทำไมสัมปทานปิโตรเลียมจะฉีกไม่ได้ ถ้าจะทำให้ราคาน้ำมันถูกลง ตกลงตอนนี้ทุกคนจึงมอง คสช.เหมือนเป็นแก้วสารพัดนึกที่จะทำอะไรก็ได้อย่างที่ตัวเองต้องการโดยไม่ต้องสนใจกฎระเบียบ เหตุผล และผลกระทบใด ๆ ที่จะตามมาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ถ้าเราตัดเรื่องอารมณ์และความรู้สึกที่ถูกปลุกระดมกันมาโดยตลอดว่าเราต้องบริโภคพลังงานในราคาแพงเพราะถูกเอารัดเอาเปรียบออกไปก่อน แล้วมาค่อย ๆ พิจารณาว่า ภายใต้สถานการณ์และโอกาสดี ๆ อย่างนี้ คสช.ซึ่งมีอำนาจเต็มในการบริหารและแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ควรดำเนินการอะไรตามลำดับก่อนหลังเพื่อแก้ไขปัญหาด้านพลังงานของประเทศนั้นผมใคร่เสนอให้ คสช. เร่งดำเนินการในเรื่องต่อไปนี้ก่อน คือ 1. ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปพลังงานที่ประกอบไปด้วยทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ผู้ประกอบการ นักวิชาการ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม และผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องพลังงาน เพื่อมาระดมความคิดให้ตกผลึกในแนวนโยบายด้านพลังงานของประเทศให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือพุดง่าย ๆ ทำโรดแม็พด้านพลังงานของประเทศนั่นเอง ซึ่งจะเป็นแผนระยะยาวของประเทศที่จะใช้ในอนาคต 2. ส่วนระยะสั้นนั้นจะต้องเร่งแก้ไขปัญหาการบิดเบือนโครงสร้างราคาพลังงานในปัจจุบันซึ่งมีความไม่เป็นธรรมในกลุ่มผู้ใช้พลังงานกลุ่มต่าง ๆ สูงมาก เช่น กลุ่มผู้ใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ซึ่งต้องรับภาระภาษีสรรพสามิตและจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ในอัตราสูง ส่วนผู้ใช้น้ำมันดีเซลและก๊าซแอลพีจีกลับได้ใช้ในราคาต่ำจนเกินไปเพราะได้รับการอุดหนุนโดยไม่ต้องจ่ายภาษีสรรพสามิตหรือนำเงินกองทุนน้ำมันฯ ที่เก็บมาจากผู้ใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์มาอุดหนุน เป็นต้น ดังนั้นการปรับโครงสร้างราคาทั้งระบบ (ทั้งภาษีสรรพสามิตและเงินเก็บเข้ากองทุนน้ำมันฯ) จึงเป็นงานที่ต้องทำอย่างรีบด่วนเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้พลังงานทุกกลุ่ม 3. ตัดสินใจเดินหน้าเปิดให้มีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 โดยเร็ว เพราะเราล่าช้ามาหลายปีแล้ว (ประเทศไทยไม่มีแหล่งปิโตรเลียมใหม่มาเป็นเวลาเจ็ดปีแล้ว) เนื่องจากความขัดแย้งทางความคิดเกี่ยวกับการจัดการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างรัฐกับผู้ประกอบการว่าจะใช้ระบบใด ดังนั้น คสช. จึงควรรีบตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานที่มีตัวแทนจากทุกฝ่ายมาร่วมพิจารณาความเหมาะสมของระบบบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเพื่อให้ได้ข้อสรุปใน 3 เดือน เนื่องจากประเทศไทยต้องเตรียมรับมือกับการผลิตปิโตรเลียมที่ลดลงและแหล่งผลิตก๊าซฯ ที่กำลังจะหมดลงไปในอนาคตอันใกล้นี้ ทั้งหมดนี้คือข้อเสนอเร่งด่วนสามข้อที่ผมคิดว่า คสช. ควรรีบดำเนินการโดยเร็วที่สุดครับ!!!.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ปฏิรูปพลังงาน : เผือกร้อนในมือคสช. – พลังงานรอบทิศ

Posts related