เข้าสู่ยุคดิจิตอลอย่างเต็มตัว ทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร ล้วนใช้ไอซีทีเข้ามาผสมผสานการทำงานทั้งสิ้น  แต่ในแง่ของการลงทุนไอซีทีเพื่อขับเคลื่อนการทำงานก็ต้องใช้งบประมาณที่สูง ซึ่งหากมีหน่วยงานที่เป็นจุดศูนย์กลางการลงทุนและแบ่งปันก็ใช้งานร่วมกัน ถือเป็นทางออกที่ดี โดยเฉพาะการลงทุนของหน่วยงานภาครัฐ นายสุรชัย ศรีสารคาม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เล่าว่า กระทรวงไอซีทีพยายามร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูประบบราชการด้วยไอซีที ล่าสุดจึงร่วมมือกัน 5 หน่วยงานสำคัญ ประกอบด้วย กระทรวงไอซีที สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) สำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลัง เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีของประเทศ พัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ และเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชน สำหรับหน้าที่หลักของกระทรวงไอซีที คือการสนับสนุนด้านการพัฒนาไอซีที ในการปฏิรูปการทำงานของระบบราชการทั้งระบบ และ ด้านการติดตั้งระบบงาน (ซอฟต์แวร์ แอพพลิเคชั่น) อุปกรณ์คอมพิวเตอร์แม่ข่าย และโครงข่ายการสื่อสารข้อมูล ส่วนอีก 4 หน่วยงาน จะสนับสนุนข้อเสนอแนะ ทดลองระบบงานต้นแบบตามหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน โดยทุกหน่วยงานจะรวมพลังเพื่อการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งการ   นำองค์ความรู้ที่สามารถประยุกต์ใช้งานได้จริงมาใช้ในโครงการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพให้เกิดแหล่งข้อมูลการบริหารจัดการภาครัฐเพื่อการเชื่อมโยงกันอย่างเป็นเอกภาพ นายดุสิต เขมะศักดิ์ชัย รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เล่าว่า สำนักงบประมาณมีหน่วยงานในองค์กรกว่า 400 หน่วยงาน ที่ผ่านมาการบริหารจัดการถือว่าลำบาก แต่พอมีการบูรณาการด้วยไอซีที เพื่อให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางถือว่าสำคัญ ดังนั้น การทำระบบไอซีทีที่มีขนาดใหญ่ควรคิดให้รอบคอบ เพราะการทำงบประมาณใน 10 ปีที่ผ่านมา มีการใช้ฐานข้อมูลเยอะ “ปัจจุบัน เมื่อบูรณาการข้อมูลเข้าด้วยกัน ไอซีทีจะเข้าไปในทุกขั้นตอน ทั้ง ติดตามการประเมินผล จะทำให้ทราบว่าดีหรือไม่ดี เพราะสำนักงบประมาณต้องการข้อเท็จจริงที่ตรงจุดและทันสมัยด้วย” นายดุสิต กล่าว นายนครเขตต์ สุทธปรีดา รองเลขาธิการ สำนักงาน ก.พ.ร. เล่าว่า การใช้ไอซีทีถือเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนการให้บริการประชาชนที่ดีขึ้น วันนี้มีการพัฒนา มีการแก้ระเบียบ การทำงานโปร่งใส จะเห็นได้จากนโยบายการพัฒนาส่วนราชการได้ประสานกับกระทรวงไอซีทีหลายเรื่องที่ผ่านมาถือว่าเห็นผลในทางที่ดี นายเกียรติณรงค์ วงศ์น้อย ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง เล่าว่า กระทรวงการคลัง ได้มีการทำระบบสารสนเทศเน็ตเวิร์ก เพื่อเชื่อมโยงกรมทั้งกระทรวง ทำให้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันกรมอื่น ๆ ได้ใช้บริการได้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเชื่อมโยงระบบ 3 กรม คือ กรมสรรพสามิต กรมสรรพากร และกรมศุลกากร เข้าด้วยกัน เพื่อจัดการในเรื่องของภาษีได้ในที่เดียว นายพิตรพิบูล ศรีประเสริฐภาพ ผู้อำนวยการส่วนยุทธศาสตร์และการลงทุนสาขาสื่อสาร สำนักงาน ศสช. เล่าว่า ไอซีทีสามารถรายงานข้อมูลรายไตรมาสได้ทันที ต่างจากเมื่อก่อนที่การเก็บข้อมูลต้องใช้เวลา คนคิดว่าข้อมูลได้มาจากการนั่งเทียน ข้อมูลกว่าจะครบถ้วนใช้เวลา 3-4 เดือน ดังนั้น จึงทำให้เกิดปัญหาข้อมูลคลาดเคลื่อน แต่ปัจจุบันสามารถใช้ไอซีที เก็บข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ปลัดไอซีที เล่าต่อว่า จากความสำเร็จในก้าวแรกของโครงการจังหวัดอัจฉริยะต้นแบบ ที่นครนายก โดย 4 หมู่บ้านใช้งบประมาณ 27 ล้านบาท จากโครงข่ายจาก บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เพื่อเชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ตทั้ง 4 หมู่บ้านให้เข้ากับภาครัฐที่ผ่านระบบคลาวด์คอมพิวติ้งภาคธุรกิจโดยประชาชนสามารถใช้งานผ่านบัตรประจำ ตัวประชาชนของตนเอง และเฟส 2 ได้รับงบประมาณสนับสนุน 200 ล้านบาท เพื่อครอบคลุมทั้ง 408 หมู่บ้านในนครนายก และขยายไปยัง จ.ภูเก็ตต่อไปในปีนี้ และเชื่อว่าโครงการจะเป็นไปตามแผนที่วางไว้ เพราะการของบสนับสนุนได้โอนมาเป็นหน้าที่ของกระทรวงไอซีทีโดยตรงแล้ว มั่นใจภายในปี 2559 ระบบเครือข่ายภาครัฐจะเชื่อมโยงกันและกัน ข้อมูลระดับ   หมู่บ้านจะชัดเจนขึ้น การลงทุนไม่ซ้ำซ้อน กระทรวงไอซีที จะเป็นแบ๊กอัพข้อมูล และอนาคตจะมีการตั้งฐานแบ๊กอัพข้อมูลเพิ่มเติม เมื่อไม่ต้องลงทุนซ้ำซ้อน จะใช้เงินส่วนที่เคยสูญเสียไปทำอย่างอื่น มีการเชื่อมโยงระดับชุมชน หมู่บ้าน จนถึงระดับประเทศ. กัญณัฏฐ์ บุตรดี Kanyanat25@gmail.com

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ปฏิรูประบบราชการไทยด้วย ICT

Posts related