ดีเดย์ผ่านไปแล้ว 1 วันกับแผนปิดกรุงเขย่าบัลลังก์รัฐบาลของเหล่าผู้ชุมนุม กปปส. เรียกว่าเป็นออร์เดิร์ฟจานร้อนให้คนไทยหลายคน หลายภาคธุรกิจถูกกระทบไปไม่น้อยโดยเฉพาะในกรุงเทพฯชั้นใน ทำเอาการจราจรหยุดชะงัก ธุรกิจหลายแห่งเป็นอัมพาต เดือดร้อนถ้วนหน้า “ทีมข่าวเศรษฐกิจเดลินิวส์” จึงรวบรวมผลกระทบมาให้ติดตามกัน คนใช้รถเมล์หาย 40% เริ่มจากการเดินทางขนส่งคมนาคม ที่กระทรวงคมนาคมได้ประเมินว่าผลจาก การชัตดาวน์กรุงเทพฯ วันแรกทำให้คนออกมาเดินทางสัญจรใช้รถใช้ถนนหายไป 30-40% เพราะประชาชนบางส่วนได้เลี่ยงไปใช้เส้นทางที่ไม่มีการชุมนุมแทนสถานที่ราชการบางส่วนก็หยุดงาน หรือให้ไปทำงานที่บ้าน แถมโรงเรียนหลายแห่งก็ประกาศหยุดเรียนโดยเฉพาะการเดินทางผ่านรถโดยสารประจำทาง หรือรถเมล์ ที่ปกติมีเดินทาง 3.1 ล้านคน เหลือ 2 ล้านคน หายลงไป 30% ดอนเมืองโทลล์เวย์ปกติ 80,000 เที่ยว เหลือ 51,000 เที่ยว ลดลง 46% ทางด่วนพิเศษปกติ 600,000 คัน เหลือ 300,000 คัน ลดลง 50% เรือคลองแสนแสบปกติ 47,000  คน เป็น 60,000 คน เพิ่มขึ้น 20% เรือด่วนเจ้าพระยาปกติ 35,000 เที่ยว เป็น 50,000 เที่ยว เพิ่มขึ้น 40% รถไฟชานเมืองช่วงเช้า 15,000 คน เหลือ 8,000 คน ลดลง 40% รถไฟใต้ดิน 230,000 ครั้ง ใกล้เคียงปกติ แอร์พอร์ตลิงค์ปกติ 40,000 เที่ยว เป็น 48,000 เที่ยว เพิ่มขึ้น 20% บีทีเอส 700,000 เที่ยว ใกล้เคียงปกติ ปิดจราจรสำคัญ 8 จุด นอกจากนี้ยังมีการปิดการจราจรสำคัญ 8 จุด ได้แก่ ถนนแจ้ง วัฒนะ หน้าศูนย์ราชการ, แยกราชประสงค์, แยกปทุมวันหน้าศูนย์การค้ามาบุญครอง และหน้าสนามกีฬาถึงแยกราชปรารภ, แยกอโศก–เพชรบุรี, แยกสวนลุม–สีลม, 5 แยกลาดพร้าว, อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิปิดทุกด้านการจราจรผ่านไม่ได้ และสะพานพระราม 8 ปิดการจราจรทั้งขาเข้า–ออกแต่การจราจรโดยรวมไม่ติดขัดนัก เนื่องจากคนใช้ถนนน้อยยกเว้นเส้นทางที่มีม็อบชุมนุมใช้เดินทางไม่ได้โรงแรมกระอักอีเวนต์หายด้านผลกระทบต่อภาคท่องเที่ยวก็ลำบากไม่แพ้กัน นายรณชิต มหิทธนะพฤทธิ์ รองประธานฝ่ายบริหารและการเงินโรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา กล่าวว่าตั้งแต่วันที่ 13 ซึ่งมีการชุมนุมปิดกรุงเทพฯ นั้นคาดการณ์ว่าจะทำให้การเข้าพักลดเหลือ 40% ที่ลดลงไปมากที่สุด มาจากการจัดประชุมหรือกลุ่มอีเวนต์การประชุมที่ตั้งแต่เดือน ธ.ค.-ม.ค. ได้ยกเลิกหรือเลื่อนการจัดงานออกไป และทำให้รายได้ลดลงไป 70ล้านบาท เทียบเป็นสัดส่วน 5% จากรายได้ในกลุ่มโรงแรมของปี 56 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 7,000 ล้านบาท “ต้องยอมรับว่าเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองนั้น ส่งผลกระทบกับภาพรวมของอัตราการเข้าพักในกรุงเทพฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะระหว่างวันที่ 1-12 ม.ค. ที่ยังไม่มีเหตุการณ์ใหญ่อย่างปิดกรุงเทพฯ ก็ทำให้อัตราการเข้าพักลดลงไปแล้ว 2-10% และในช่วงนี้โรงแรมได้ออกโปรโมชั่นในชื่อชัตดาวน์ แบงค็อก ลดราคาห้องพัก 40-50% จากราคาเต็มของห้อง” ค้าปลีกรอประเมินผล ขณะที่ด้านการทำมาค้าขาย นายฉัตรชัย ตังคณานันท์ ผู้อำนวยการสมาคมผู้ค้าปลีกไทย มองว่า ยัังประเมินสถานการณ์ค้าปลีกได้ยาก ต้องรอให้สถานการณ์คลี่คลาย ก่อนจะประเมินตัวเลขทั้งปีนี้ได้ ซึ่งขณะนี้ต้องติดตามเหตุการณ์แบบชั่วโมงต่อชั่วโมง แต่ยอมรับว่าการเมืองได้ส่งผลกระทบค่อนข้างมาก เห็นได้จากยอดธุรกิจค้าปลีกค้าส่งในปี 56 ที่เติบโตได้น้อยเพียง 9% ต่ำกว่าที่คาดไว้ จากการสำรวจของผู้สื่อข่าวพบว่าผู้ใช้บริการศูนย์การค้าลดลงโดยเฉพาะชาวต่างชาติ แต่มีผู้ชุมนุมมาใช้บริการแทน โดยร้านอาหารและเครื่องดื่มต่าง ๆ มีผู้มาใช้บริการอย่างหนาตา ซึ่งขณะนี้ร้านฟาสต์ฟู้ด หลายแห่งเริ่มมีอาหารจำหน่ายไม่พอแล้วขณะที่ร้านกาแฟก็มีลูกค้าเพิ่มขึ้น จากเดิมประมาณวันละหนึ่งแสนบาท แต่ในวันที่ 13 ม.ค.นี้ คาดยอดขายทะลุ 130,000 บาท ด้านศูนย์จำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าไอทีการซื้อขายไม่คึกคัก แต่บรรยากาศโดยรอบมีผู้ชุมนุมเดินเข้ามาดูสินค้าอยู่ตลอดเวลาโดยพนักงานขายเปิดเผยว่า วันนี้ลูกค้าที่มาซื้อสินค้าลดลงนอกจากนี้สินค้าที่เคยขายดีในการชุมนุมครั้งก่อน อาทิ อุปกรณ์สำรองไฟโทรศัพท์มือถือ หรือ เพาเวอร์แบงก์ ขายได้น้อยลง แบงก์งัดแผนสำรองเงิน บรรดาแบงก์พาณิชย์ในแต่ละแห่งตื่นตัวกับการชุมนุมครั้งนี้ไม่น้อย โดยได้จัดทีมงานเฉพาะกิจเกาะติดตามสถานการณ์การชุมนุมตลอด 24 ชม. หากมีเหตุการณ์รุนแรงก็พร้อมงัดมาตรการสำรองออกมาใช้ในทันที เพราะก่อนหน้านี้มีการทดสอบระบบไว้ล่วงหน้าแล้วหากมีเหตุการณ์ฉุกเฉินเชื่อว่าจะรับมือได้เป็นอย่างดี และยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่ามีการสำรองเงินสดเพียงพอรองรับการเบิกถอนของประชาชน รวมทั้งแนะนำลูกค้าทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น อินเทอร์เน็ตและมือถือเพิ่มขึ้น ส่วนการเปิด-ปิดให้บริการกับประชาชนของแบงก์พาณิชย์นั้น จะให้ผู้จัดการสาขาในพื้นที่จุดเสี่ยงเป็นผู้มีอำนาจในการสั่งการหากเห็นว่าพื้นที่นั้นมีความล่อแหลมก็ให้ตัดสินใจปิดสาขาได้ทันทีไม่จำเป็นต้องรอสำนักงานใหญ่อนุมัติแต่เบื้องต้นในวันแรกของ การชัตดาวน์มีสาขาของแบงก์ใหญ่  กลาง และเล็กปิดทั้งหมด 45 สาขาไปแล้ว และเปิดให้บริการอีกครั้งเมื่อสถานการณ์การเมืองคลี่คลาย ถึงตอนนี้ การชุมนุมก็ยังยืดเยื้อไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่าย ๆ เราคนไทยก็ได้แต่เฝ้ารอว่าเมื่อไหร่ปัญหาความขัดแย้งจะยุติลงซักที เพราะการสู้กันเองต่อไปเช่นนี้ก็มีแต่คนไทยด้วยกันเท่านั้นที่แพ้. ทีมเศรษฐกิจ

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ประมวลผลกระทบเศรษฐกิจดีเดย์วันม็อบปิดกรุงเทพฯ

Posts related