นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เป็นห่วงถึงสถานการณ์การเมืองจากการชุมนุมที่เกิดขึ้น จนอาจเกิดการเผชิญหน้า โดยเฉพาะขณะนี้ สถานการณ์ทางการเมืองเริ่มบั่นทอนภาวะเศรษฐกิจแล้ว เห็นได้จากความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว ผู้บริโภค และภาคธุรกิจที่ลดลง แต่อย่างไรก็ดี ธปท.พร้อมทำหน้าที่ดูแลสภาพคล่อง รักษาความมั่นคงของระบบสถาบันการเงินให้แข็งแกร่ง ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงมากขึ้น “เชื่อว่าแม้จะมีการถอนร่างกฎหมายนิรโทษกรรมดังกล่าวแล้ว แต่มองว่าเรื่องยังคงไม่จบ เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเพียงแค่ปลายเหตุ แต่ยังมีส่วนอื่น ๆ ที่คล้อยไปในทางที่ทำลายความไว้วางใจจากประชาชน เช่น นโยบายรับจำนำข้าว โดยจะเห็นจากเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ ก็มองว่าเป็นตัวทำลายประเทศ แต่ผู้มีอำนาจยังคงใช้ อำนาจจากเสียงข้างมากมายืนยันคำตอบในการทำ ดังนั้นวิธีแก้ปัญหาก็ต้องไปจัดการตัวที่ทำลายความเชื่อมั่นของคน” สถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่เริ่มร้อนแรงขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในเรื่องของความเชื่อมั่นผู้บริโภคและนักลงทุน รวมไปถึงผลกระทบที่เกิดกับภาคการท่องเที่ยว ซึ่งหลายหน่วยงานก็ออกมายอมรับในเรื่องเหล่านี้ เพียงแต่การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่ 3-4% ยังถือเป็นระดับที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับหลายประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ในกรณีที่มีพนักงานของ ธปท.ออกมาคัดคัานการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ด้านนอกพื้นที่ของ ธปท. ถือว่าเป็นการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานตามระบอบประชาธิปไตย และไม่มีผลกระทบต่อการทำงาน ซึ่งการออกมาคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของประชาชนนั้น ถือเป็นเรื่องในทางบวก ที่ประชาชนที่เคยเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย กับรัฐบาลมาก่อนออกมาแสดงความคิดเห็นที่สอดคล้องกัน โดยไม่คำนึงถึงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหลัก ซึ่งจุดนี้ทำให้เห็นว่าประชาชนมีความคิดเห็นเกี่ยวกับความไม่ถูกต้องได้เอง โดยจุดนี้ นับเป็นคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทย เพราะสิ่งสำคัญของความสำเร็จของนโยบายสาธารณะขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นของสาธารณชน ซึ่งการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของรัฐบาลเป็นตัวอย่างของความไม่ไว้วางใจของประชาชนที่เกิดขึ้น ดังนั้น การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้จึงควรแก้ที่ต้นเหตุของความไม่ไวัวางใจ “ผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่สงบของสถานการณ์ทางการเมืองนั้น ในระยะสั้นเศรษฐกิจของไทยต้องขับเคลื่อนหลายส่วน เพื่อให้ความเชื่อมั่นกลับมา ทั้งภาคธุรกิจเอกชน ภาครัฐ กระตุ้นให้เกิดการลงทุน การอุปโภคบริโภค การท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าคุณภาพของสังคมไทย เริ่มเห็นสิ่งไม่ถูกต้องก็ออกมาคัดค้าน ทำให้เห็นว่าไทยเป็นสังคมที่มีความคิด มีเหตุผล และความกล้าหาญในระดับหนึ่ง” ด้านนางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวว่า สถานการณ์ในปัจจุบันถือเป็นปัจจัยภายในที่ ธปท. ต้องเพิ่มความระมัดระวัง โดยยืนยันว่าจะเข้าดูแลการซื้อขายในตลาดเงินอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนมากเกินไปจนส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ส่วนการอ่อนค่าของเงินบาทไทยช่วงที่ผ่านมา สาเหตุหลักยังคงเป็นผลจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐที่ออกมาดีเกินคาด ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินสกุลอื่นของประเทศคู่ค้า รวมทั้งค่าเงินบาทไทยอ่อนค่าลงตามไปด้วย ทั้งนี้ ทิศทางของค่าเงินในระยะต่อไปนั้น เชื่อว่าหากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ(คิวอี) ลง ก็คงทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น จึงเป็นธรรมดาที่ค่าเงินสกุลอื่นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ รวมถึงค่าเงินบาทไทยอ่อนค่าตามลงไปด้วย เพียงแต่จะเกิดเร็วหรือช้ายังไม่สามารถตอบได้ เพราะมีหลายปัจจัยประกอบกัน โดย ธปท.อยากเตือนให้ผู้เกี่ยวข้องใช้ความระมัดระวังในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้ง ยังได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ ได้เข้าใจถึงวิธีการใช้เครื่องมือต่างๆ ในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : “ประสาร” รับการเมืองเริ่มกระทบเศรษฐกิจแล้ว

Posts related