อีริคสัน ร่วมกับ อาเธอร์ ดี ลิตเติล (Arthur D. Little) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีชาลเมอร์ส (Chalmers University of Technology) ได้เสนองานวิจัยร่วมกัน เกี่ยวกับผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจ ของความเร็วบรอดแบนด์ที่มีต่อครัวเรือน การศึกษาในระดับครัวเรือน (เศรษฐกิจจุลภาค หรือ Microeconomics) นี้ ได้แสดงให้เห็นถึง ปริมาณการเพิ่มความเร็วบรอดแบนด์นั้นสามารถสร้างผลกระทบต่อรายได้ในครัวเรือน การเพิ่มดังกล่าวนี้ มีปริมาณที่แตกต่างกัน สำหรับประเทศในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ โออีซีดี (OECD – Organization for Economic Cooperation and Development) และกลุ่มประเทศบราซิล อินเดีย และจีน หรือ บิก (BIC – Brazil, India and China) จากการศึกษาพบว่า กลุ่มประเทศโออีซีดี จะได้รับประโยชน์ จากการเพิ่มความเร็วบรอดแบนด์มากกว่า ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับแนวคิดที่ว่า การเพิ่มความเร็วบรอดแบนด์ จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด เมื่อมีบริการคุณภาพดี บนอินเตอร์เน็ตควบคู่กันไปด้วย ข้อสรุปสำคัญจากงานวิจัยชิ้นนี้ เมื่อควบคุมปัจจัยอื่นที่มีผลต่อรายได้แล้ว (เช่น อายุ เพศ การศึกษา ขนาดครอบครัว ทักษะ และอาชีพ) คือ การเพิ่มความเร็วบรอดแบนด์ โดยเฉลี่ย จาก 4 เป็น 8 เมกะบิตต่อวินาที ทำให้รายได้สูงขึ้น 120 เหรียญสหรัฐฯ ต่อเดือน ในกลุ่มประเทศโออีซีดี (OECD) สำหรับกลุ่มประเทศบิก (BIC) การเพิ่มความเร็วบรอดแบนด์ จาก 0.5 เป็น 4 เมกะบิตต่อวินาที จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือ ทำให้รายได้สูงขึ้น 46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อเดือน นาย เซบาสเตียน ทอลสตอย (Sebastian Tolstoy) รองประธานฝ่าย Radio Business development and Strategy อีริคสัน กล่าวว่า ผลการศึกษานี้ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน กับงานวิจัยที่เคยทำ โดยการศึกษาผลลัพธ์ จากการเพิ่มความเร็วบรอดแบนด์ที่มีต่อจีดีพี (GDP – Gross Domestic Product) ใน 33 ประเทศ และอีกหลายงานวิจัยที่ได้เคยศึกษามา งานวิจัยทั้งหมด ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า การใช้อินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ความเร็วสูง มีผลในเชิงบวกต่อเศรษฐกิจ เรารู้ว่าความเร็วนั้นมีความหมาย และการเพิ่มความเร็วบรอดแบนด์ จะทำให้เกิดผลในทางที่ดียิ่งขึ้น และในปัจจุบัน สามารถแสดงผลลัพธ์นั้น ในเชิงปริมาณที่ชัดเจน โดยการศึกษาตัวอย่างจำนวนมาก ทั้งในกลุ่มประเทศโออีซีดีและบิก รวมทั้งได้ทำการศึกษาลึกลงไป ถึงในระดับครัวเรือน นาย มาร์ติน กลาวมานน์ จาก อาเธอร์ ดี ลิตเติล กล่าวว่า หลักฐานที่มี ล้วนทำให้เห็นว่า ความเร็วของอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ เป็นแรงผลักดันสำคัญสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ถึงกระนั้นก็ตาม ในหลายประเทศ รวมทั้งกลุ่มประเทศอียู กลับมีข้อกำหนดบางประการ จากองค์กรที่มีหน้าที่กำกับดูแล ซึ่งมีผลให้การขยายตัวไม่เป็นไปตามที่ควร องค์กรที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ จึงควรพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง และตระหนักถึงความสำคัญของบรอดแบนด์ความเร็วสูง สำหรับประเทศในกลุ่มบิก นอกจากนั้นแล้ว บรอดแบนด์ยังทำให้ผู้ใช้ในครัวเรือน สามารถพัฒนาทักษะและผลผลิตของตนได้ ด้วยการศึกษาแบบ e-learning และบริการด้านธุรกิจต่างๆ รวมทั้งเป็นการเพิ่มช่องทางในการซื้อสินค้า หรือใช้บริการด้านอื่นๆ อีกด้วย นาย อีริค โบห์ลิน ศาสตราจารย์ แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีชาลเมอร์ส กล่าวว่า การศึกษาครั้งนี้ เป็นหนึ่งในงานวิจัยชิ้นแรกๆ ที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบของความเร็วบรอดแบนด์ที่มีต่อรายได้ในครัวเรือน ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่เข้มงวด และประกอบด้วยข้อมูลสมทบปริมาณมาก ทำให้ได้ข้อสรุปว่า การเพิ่มความเร็วอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์จะช่วยเพิ่มรายได้ ซึ่งเป็นข้อสรุปที่ควรได้รับการพิจารณา ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายและกลยุทธ์สำคัญหลายประการ นาย บัญญัติ เกิดนิยม ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท อีริคสัน ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า อีริคสัน กับ อาเธอร์ ดี ลิตเติล และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีชาลเมอร์ส ได้ร่วมกับศึกษาผลกระทบจากการที่ประชาชนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ต่อเศรษฐกิจมหภาคโดยรวมเมื่อ ปี พศ 2553 ซึ่งมีการศึกษาใน 33 ประเทศ โดยได้ข้อสรุปคือ การเพิ่มความเร็วของบรอดแบนด์ทุกๆ 10 เปอร์เซ็นต์ จะส่งผลให้เกิดการเพิ่มเศรษฐกิจจีดีพี (GDP) ของประเทศได้ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ และที่น่าสนใจอีกก็คือการเพิ่มความเร็วบรอดแบนด์เป็นสองเท่าจะทำให้จีดีพี (GDP) เพิ่มขึ้นถึง 0.3 เปอร์เซ็นต์อีกด้วย และเมื่อพิจารณาผลการศึกษาในปีนี้แล้วทำให้เราเห็นถึงความสำคัญของอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาคความสามารถทางเศรษฐกิจทางทั้งในระดับมหภาคและระดับครัวเรือนอีกด้วย และเราต่างเริ่มเห็นภาครัฐต่างๆทั่วโลกต่างผลักดัน นโยบายอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์สำหรับทุกคน (Affordable Broadband for All) ซึ่งการลงทุนในระบบโมบายบรอดแบนด์ดูจะเป็นโชลูชั่นที่เร็วและคุ้มค่าที่สุดแต่ความท้าทายก็คือการจัดสรรและวางแผนคลื่นความถี่ สำหรับโมบายบรอดแบนด์ นั้นเอง ข้อมูลในการศึกษาครั้งนี้ มาจากหลายแหล่งที่มา รวมทั้งจากการสำรวจโดย อีริคสันคอนซูเมอร์แล็บ (Ericsson ConsumerLab) ตั้งแต่ปี พศ 2553 โดยครอบคลุมมากกว่า 19,000 ครัวเรือน จาก 8 ประเทศในกลุ่มโออีซีดี (สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เสปน สวีเดน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา) รวมทั้ง ประเทศบราซิล อินเดีย และจีน

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ผลวิจัยชี้ชัดความเร็วบรอดแบนด์ช่วยเพิ่มรายได้ครัวเรือน

Posts related