สวัสดีครับ พบกันครั้งแรกหลังรัฐ ประหารก็ขอยกอะไรที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการบ้านการเมืองมาเล่าให้ฟังกันหน่อยนะครับ ในช่วงไม่กี่วันมานี้ผมได้อ่านข่าวในอินเทอร์  เน็ตแล้วพบข่าวน่าตกใจข่าวหนึ่งคือ เรื่องของดิจิตอลอินเทอร์เน็ตเกตเวย์แห่งชาติ (National Digital Internet Gateway) ซึ่งตามเนื้อข่าวก็คือ การควบรวมช่องทางติดต่อสื่อสารอินเทอร์เน็ตที่ออกไปยังต่างประเทศของไทย โดยมีเหตุผลหนึ่งว่าพอผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตมาร่วมกันลงทุนและแบ่งปันช่องทางติดต่อสื่อสารไปยังต่างชาติ ก็น่าจะทำให้มีมาตรฐานเพิ่มขึ้น ราคาประหยัดลง ป้องกันการโจมตี และสามารถปิดกั้นเว็บไซต์ต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น ผมเองก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโทรคมนาคมและการสื่อสาร ก็ไม่สามารถคาดเดาได้ว่านโยบายดังกล่าวนั้นสุดท้ายแล้วดีหรือไม่ดีอย่างไร แต่ผมขอเล่าตัวอย่างเหตุการณ์หนึ่งก่อนนะครับ ทุกวันนี้ผมเชื่อว่าทุกคนต้องเคยเจออาการที่เรียกกันว่า “เน็ตช้า” กันอยู่บ้าง เช่น เรากำลังเล่นเว็บแล้วมันช้าไม่ทันใจหรือดูละครออนไลน์อยู่ดี ๆ ภาพก็กระตุกบ้างหยุดบ้าง เวลาเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น เราก็มักจะโทษผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) ของบ้านเราไว้ก่อนว่าเป็นต้นเหตุ แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นที่ใครกันแน่? ก่อนอื่นเราลองมาดูกันนะครับว่าเวลาเราดูละครออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ตนั้น ข้อมูลมีการวิ่งจากไหนไปไหนบ้าง ตัวข้อมูลละครนั้นถูกเก็บอยู่ที่เครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการเนื้อหา (เช่น เว็บไซต์) เมื่อเรากดดูละครดังกล่าว ข้อมูลก็จะต้องวิ่งจากเครื่องคอมพิวเตอร์ของ youtube  ผ่านไอเอสพีของ youtube หลังจากนั้นก็ผ่านผู้ให้บริการการเชื่อมโยงเครือข่ายส่วนกลาง และผ่านมาถึงผู้ที่ซื้อช่องสัญญาณเชื่อมต่อไปยังต่างประเทศของไทย (เช่น CAT หรือ TOT ในส่วนงานที่เป็นผู้ให้บริการช่องสัญญาณ) สุดท้ายถึงจะผ่านไอเอสพีที่เป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตตามบ้านของเรา (เช่น true internet, 3BB หรือ TOT ในส่วนงานไอเอสพี) จะเห็นได้ว่ามีการผ่านผู้ให้บริการมากมาย และทุกตำแหน่งที่ข้อมูลวิ่งผ่านนั้นก็จะต้องมีค่าใช้จ่ายทุกที่ แต่เวลาที่เราจ่ายค่าบริการอินเทอร์เน็ตนั้น เราจ่ายให้ไอเอสพีเจ้าเดียว ตรงนี้เขาเรียกกันว่าใช้หลักการ bill-and-keep กล่าวคือ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตตามบ้านจะเก็บค่าบริการจากผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ต และใช้ค่าเงินดังกล่าวไปจัดหาซื้อหรือเช่าช่องสัญญาณต่าง ๆ เอาไว้รับส่งข้อมูลที่ผู้ใช้ต้องการนั่นเอง กล่าวคือผู้ให้บริการนั้นเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้ตามบ้านเท่านั้น ตัวอย่างเหตุการณ์ปัญหาที่อยากจะเล่านี้เกิดขึ้นที่อเมริกาครับ ที่อเมริกามีผู้ให้บริการเนื้อหาเจ้าหนึ่งชื่อ  Netflix ซึ่งให้บริการหนังผ่านอินเทอร์เน็ต (คล้าย ๆ ละครออนไลน์ของเรา แต่เป็นหนังโรง) โดย Netflix นี่ให้บริการหนังด้วยความละเอียดระดับ HD ซึ่งต้องใช้ปริมาณข้อมูลมาก ใครอยากจะดูหนังออนไลน์ก็ต้อง   ไปจ่ายเงินให้ Netflix เพื่อใช้บริการดังกล่าว ตอนแรก ผู้ใช้บริการก็มีความสุขดีกับ Netflix โดยสามารถดูหนังได้ทุกเรื่องตามใจอย่างรวด  เร็ว แต่อยู่มาวันหนึ่งผู้ใช้ตามบ้านที่ใช้บริการอินเทอร์เน็ตของไอเอสพีที่ชื่อว่า Comcast นั้นก็พบว่าคุณภาพของ Netflix นั้นแย่ลง เช่น ดูหนังแล้วกระตุกบ้างหยุดบ้าง (ครับ อยู่อเมริกาก็เน็ตช้าได้เหมือนกัน) เพราะว่าปริมาณข้อมูลที่ส่งจาก Netflix ไปยัง Comcast มีเยอะขึ้นจนแน่นเครือข่ายของ Comcast แน่นอนผู้ใช้เหล่านั้นก็ไปบ่นกับ Comcast เพื่อให้ Comcast ขยายช่องสัญญาณ แต่ปรากฏว่า Comcast เลือกที่จะไม่ขยายช่องสัญญาณ แล้วบอกว่า ถ้าจะขยายก็ต้องให้  Netflix จ่ายเงิน! ฟังดูแปลกไหมครับ Comcast เก็บเงินจากผู้ใช้ตามบ้านเพื่อให้ใช้อินเทอร์เน็ตได้ แต่แทนที่ Comcast จะไปลงทุนขยายสายสัญญาณเพื่อให้ผู้ใช้สามารถรับส่งข้อมูลที่ผู้ใช้ต้องการได้ (ในที่นี้ก็คือดู Netflix เป็นต้น) Comcast กลับไปบอก Netflix ว่า ผู้ใช้ของเราจะเข้าถึงข้อมูลของคุณได้ไม่ดีถ้าคุณไม่จ่ายเงินให้เราด้วย พูดง่าย ๆ  Comcast ขอเก็บเงินทั้งสองส่วน ทั้งจากผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ต และผู้ให้บริการเนื้อหา ปกติเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ เพราะว่าผู้ใช้ของ Comcast เมื่อรู้สึกว่าไม่สามารถดูหนังผ่านอินเทอร์เน็ตได้ ก็จะโทษ Comcast และหนีไปใช้บริการเจ้าอื่นแทน ปัญหาคือ Comcast นั้นแทบจะผูกขาดอยู่แล้วในหลาย ๆ พื้นที่ กล่าวคือผู้ใช้หมดทางเลือกนั่นเอง เมื่อผู้ใช้ไปบ่นกัน Comcast สิ่งที่  Comcast ตอบก็คือ “คนผิดคือ Netflix ที่ไม่ยอมจ่ายเงิน” แน่นอนว่า Netflix ก็ไม่ยอมเหมือนกัน ต่างฝ่ายต่างคิดว่าอีกฝ่ายต่างหากที่ต้องเป็นคนจ่ายเงินค่าขยายช่องสัญญาณ แต่ ท้ายที่สุดแล้ว Netflix ก็เป็นฝ่ายยอมแพ้และจ่ายเงินไป สิ่งที่น่ากลัวจริง ๆ ก็คือ เหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่ใช่เหตุการณ์เดียว แต่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น เมื่อผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตนั้นผูกขาดขึ้นมาได้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตก็สามารถใช้วิธีการดังตัวอย่างที่เล่าไปแล้วนั้นมาต่อรองกับผู้ให้บริการเนื้อหา โดยผลเสียก็ตกมาสู่ผู้ใช้ตามบ้าน ที่กลายเป็นตัวประกันให้กับผู้ให้บริการแทน การที่ Comcast เป็นผู้ชนะในการต่อรองครั้งนี้ก็เพราะว่า Comcast นั้นผูกขาดตลาดอยู่ ทำให้ผู้ใช้ไม่มีทางเลือก ซึ่ง Netflix เองก็รู้ดีถึงได้ยอมจ่าย กลับมาที่เรื่องดิจิตอลอินเทอร์เน็ตเกตเวย์แห่งชาตินะครับ สิ่งที่ผมหวังว่ามันจะ   ไม่เกิดขึ้นก็คือการผูกขาดของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ถ้าเกิดเกตเวย์แห่งชาตินี้ทำให้บรรดาผู้ให้บริการทุก ๆ คนนั้นเหมือนกับว่ารวมตัวกันเป็นเจ้าเดียว แล้วเกิดอยากจะทำตัวเหมือนกับ Comcast ขึ้นมาโดยยึดเอาผู้ใช้บริการเป็นเครื่องมือต่อรอง อันนี้ก็น่าห่วงเหมือนกันครับ ถ้าจะมีเรื่องพอให้มีความหวังได้บ้างก็คือ ปัญหาที่ได้เล่าให้ฟังนี้เรียกว่าของเรื่อง net neutrality หรือความเป็นกลางทางด้านเครือข่าย ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่นานาประเทศกำลังให้ความสนใจและพิจารณากันอยู่ และทาง กสทช.  ของเราเองนั้นก็รับรู้เรื่องนี้อยู่แล้ว ผู้อ่านบางท่านอาจจะจำปัญหาเรื่องของค่าเชื่อมโยงเครือข่ายมือถือ ซึ่งเป็นประเด็นร้อนเมื่อประมาณ 7-8 ปีที่แล้ว ในใจความสำคัญนั้นปัญหาดังกล่าวก็มีความคล้ายคลึงกับปัญหา net neutrality เช่นเดียวกัน ผมก็หวังว่า กสทช. จะออกนโยบายและแนวทางที่ควรเป็นเกี่ยวกับเรื่องของอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ โดยยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญมาให้เราได้เห็นกันครับ แล้วพบกันใหม่ครับ. นัทที นิภานันท์ (nattee.n@chula.ac.th ) ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ผูกขาดอินเทอร์เน็ต – 1001

Posts related