ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลของ “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ต้องประสบปัญหาการระบายข้าวจากโครงการรับจำนำมาตลอด เนื่องจากข้าวไทยมีราคาสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน จนสุดท้ายถูกอินเดียและเวียดนาม ตีตลาดกระเจิงแบบไม่เป็นท่า แต่หลังจากการเดินทางมาเยือนไทยของ ’นายหลี่ เค่อเฉียง“ นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 11-13 ต.ค. 56 ที่ผ่านมา ได้สร้างความหวังในการระบายข้าวให้กับรัฐบาลไทยอีกครั้ง…เพราะผู้นำทั้ง 2 ฝ่ายต่างเห็นชอบร่วมกันที่จะซื้อจะขายข้าวไทยให้ได้ปีละ 1 ล้านตัน ในรูปแบบของรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือที่เรียกกันว่า ’จีทูจี“ ต้องยอมรับว่าในระยะหลัง ๆ นี้ รัฐบาลกำลังวุ่นวายกับการระบายข้าวในสต๊อกที่มีอยู่ไม่น้อยกว่า 14-15 ล้านตัน จนทำให้นายกฯ หญิงของไทย รวมถึงบรรดารัฐมนตรี ต้องทำหน้าที่ขายข้าวที่รับซื้อมาในราคาแพงเพื่อแลกกับคะแนนเสียง  เพราะการเปิดประมูลขายข้าวให้กับเอกชน ดูจะไม่ได้รับผลสำเร็จเท่าที่ควร! เพราะหลายครั้งหลายครา เอกชนแทบไม่ให้ความสนใจ

ดังนั้น! แนวทางที่ดีที่สุดคงหนีไม่พ้น…ต้องขายแบบจีทูจี  ที่ทำได้ในหลายรูปแบบ ทั้งขายแบบตรง ๆ เพื่อรับเงินสด หรือขายด้วยการแลกเปลี่ยนสินค้าแทนเงินสด ที่เรียกกันว่าบาร์เตอร์เทรด ที่เห็นกันแล้วว่าจะสามารถล้างสต๊อกอันมโหฬารได้ เพราะหากไม่ใช้วิธีนี้ แต่ปล่อยให้การขายเป็นไปตามปกติ  ก็เชื่อได้แน่ว่า “ข้าวในโกดังของรัฐบาล” คงยากที่จะขายออก สุดท้ายข้าวไทยที่รับจำนำมาในราคาแพงจะเสื่อมคุณภาพลงเรื่อย ๆ เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นได้ชัดเจนจากการเสียแชมป์ในการเป็นผู้ส่งออกข้าวของไทยให้กับเพื่อนบ้านอย่างอินเดียและเวียดนาม เมื่อปี 55 ที่ผ่านมา และยังมีแนวโน้มที่จะเสียแชมป์เป็นปีที่ 2 ในปี 56 นี้ด้วยเช่นกัน จนทำให้บรรดานักวิชาการรวมถึงอดีตขุนคลังหลายคน ต้องออกมาตักเตือน… ให้เร่งแก้ปัญหาข้าวในสต๊อกหรือยกเลิกโครงการรับจำนำเพราะมีการประเมินทางบัญชีแล้วแค่ 2 ปีรัฐบาลขาดทุนไปแล้วกว่า 4 แสนล้านบาท หากรัฐบาลไม่ปรับเปลี่ยนรูปแบบช่วยเหลือชาวนาโดยเร็ว จะทำให้ประเทศชาติยิ่งได้รับความเสียหายมากขึ้นจนอาจถึงขั้นล้ม ก่อนโครงการรับจำนำข้าวจะล้มแน่นอน อย่างไรก็ตาม การขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ รวมไปถึงการทำบาร์เตอร์เทรด ที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการระบายข้าวในเวลานี้  คงหนีไม่พ้นตลาดจีน ตะวันออก และแอฟริกา โดยเฉพาะ “จีน” ที่เป็นเป้าหมายใหญ่ที่สำคัญของไทย แต่กระแสการขายข้าวจีนไม่ได้มาครึกโครมหรือเกิดขึ้นในช่วงนี้เท่านั้น  เพราะก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวที่ไทยได้พยายามออกมาบอกกับสาธารณชนว่าได้ทำสัญญาหรือได้ขายข้าวจีทูจีหลายรอบ สุดท้ายไม่เป็นความจริงจนหน้าแตกไปหลายครั้ง ตัวอย่างในอดีตที่เห็นได้ชัด คือในสมัยที่ “บุญทรง เตริยาภิรมย์” เป็นรมว.พาณิชย์ ที่โหมกระแสการทำเอ็มโอยูซื้อขายข้าวแบบจีทูจีกับประเทศต่าง ๆ มากถึง 7.3 ล้านตัน เมื่อช่วงกลางปี 55  ที่ผ่านมา ซึ่งในจำนวนนี้เป็นการทำเอ็มโอยูกับจีนมากถึง 3-5 ล้านตัน   แต่สุดท้ายจีนได้ออกมายืนยันว่าไม่มีการทำสัญญาซื้อขายข้าวจากไทยแต่อย่างใด ประกอบกับข้อ มูลส่งออกข้าวไปจีนจริง ๆ ในแต่ละปีพบว่าไม่มากอย่างที่รัฐบาลแอบอ้าง โดยปี 52 มีปริมาณเพียง 328,238 ตัน,  ปี 53 ปริมาณ 264,207 ตัน, ปี 54  ปริมาณ 267,841 ตัน, ปี 55 ปริมาณ 143,082 ตัน ขณะที่ในช่วง 8 เดือนของปี 56  (ม.ค.-ส.ค.) มีการส่งออก 110,742 ตัน ซึ่งหากเทียบสถิติในช่วงของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะพบว่า การส่งออกกลับน้อยลง ที่สำคัญ…ยังได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของหลักล้านตันด้วยซ้ำไป

สุดท้ายพิษโครงการจำนำและการระบายข้าวไม่ออกทำให้ “บุญทรง” ต้องหลุดจากเก้าอี้ไปโดยปริยาย และส่ง “นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล” มารับไม้ต่อในการหาแนวทางระบายข้าวในสต๊อกโดยเร็ว เมื่อรัฐบาลเริ่มโหมโรงระบายข้าวรอบใหม่ให้กับจีน…จึงทำให้สังคมต่างจับจ้อง โดยเฉพาะในกรณีที่ก่อนหน้านี้ “นิวัฒน์ธำรง” ได้ระบุว่ารัฐวิสาหกิจจีนของมณฑลเฮย์หลงเจียงสนใจซื้อข้าวไทย 1.2 ล้านตันและจะทำสัญญากันภายในเดือน ต.ค.นี้ รวมไปถึงกรณีที่รัฐวิสาหกิจจีนเซ็นสัญญาซื้อขายข้าวกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย 1 ล้านตันภายใน 5 ปี หรือประมาณปีละ 2 แสนตัน รวมถึงกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นหลังจากนายกฯ จีนมาเยือนไทย ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ประกาศว่านายกฯ จีนได้สนใจซื้อข้าวไทยเพิ่มเติมอีกปีละ 1 ล้านตัน โดยเป้าหมายจะเซ็นสัญญาให้ได้ภายในเดือน ธ.ค.นี้  รวมไปถึงการบาร์เตอร์เทรด ที่จะนำข้าวในสต๊อกมาแลกรถไฟความเร็วสูง สถานการณ์ที่น่าเป็นรูปธรรมและชัดเจนมากที่สุดคือ การที่รัฐวิสาหกิจจีนเซ็นสัญญากับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย 1 ล้านตันภายใน 5 ปี หรือประมาณปีละ 2 แสนตัน ซึ่งตรงนี้เป็นของจริง เพราะเซ็นสัญญาเรียบร้อยโรงเรียนจีนแล้วเมื่อไม่นานนี้ ส่วนกรณีอื่น ๆ ต้องรอรัฐบาลไทยตามตื้อจีนให้ทำสัญญาเพื่อให้เกิดการซื้อขาย และจากนี้ไปคงจะได้เห็นบรรดารัฐมนตรีไทยบินไปจีนกันเป็นว่าเล่น โดยเฉพาะ “นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ รัฐบาลมั่นใจว่าการซื้อข้าวไทยในรูปแบบจีทูจีปีละ 1 ล้านตัน ตามที่ผู้นำทั้งสองประเทศได้หารือกันไว้ โดยจะเจรจาขายข้าวให้จีนทั้งข้าวหอมมะลิ และข้าวขาว  ในราคาตลาดโลกและอย่างช้าเซ็นสัญญาได้ในปีนี้  ส่วนการขายข้าวให้กับรัฐวิสาหกิจจีนของมณฑลเฮย์หลงเจียงปริมาณ 1.2 ล้านตัน จะเซ็นสัญญาได้ภายในเดือน ต.ค.นี้  แต่ในมุมมองของบรรดาภาคเอกชนที่คร่ำหวอดอยู่กับการซื้อขายข้าวมาตลอดชีวิต กลับมองผลลัพธ์ในเรื่องนี้แบบ “ตรงกันข้าม” โดยต่างมองว่ารัฐบาลต้องการประกาศว่าข้าวไทยมีตลาดรองรับชัดเจน และที่สำคัญช่วยผลักดันราคาข้าวให้สูงขึ้นด้วย เพราะหากตลาดโลกรับรู้ว่าข้าวในสต๊อกของไทยยังมีอีกมากรับรองว่าข้าวไทยถูกกดราคาแน่นอน ขณะที่บางกลุ่มมองว่าการลงนามเอ็มโอยู… เป็นเพียงแค่กรอบและจีนไม่จำเป็นต้องซื้อข้าวตามที่ได้ลงนามไว้ก็ได้ ในทางปฏิบัติในแต่ละปีจีนจะมีการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศประมาณ 5 ล้านตัน แน่นอนข้าวจากเวียดนาม มีโอกาสมากที่สุดเพราะราคาถูกและมีพรมแดนติดกัน สาเหตุที่จีนซื้อข้าวจากไทยน้อยแม้ว่าทั้งสองประเทศเตรียมลงนามขายข้าวกันหลายฉบับ ทั้งที่เป็นจริงบ้างหรือลวงบ้าง! แต่ผลที่ออกมาคือไทยส่งออกไปจีนในปริมาณน้อยไม่รู้ว่าจะได้ 1 ใน 10 ของปริมาณที่ลงนามหรือไม่ เนื่องจากทั้งสองประเทศมักจะมีปัญหาเรื่องการตกลงราคาซื้อขายโดยไทยต้องการขายแพงแต่จีนต้องการซื้อถูก สุดท้ายเสร็จเวียดนามทุกคราว สาเหตุเป็นเพราะข้าวขาวเวียดนาม มีราคาต่ำกว่าไทยประมาณ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน หากเป็นข้าวหอมมะลิแม้คุณภาพไทยจะดีกว่ามาก แต่เวียดนามก็มีราคาข้าวที่ถูกกว่า 30-40% ทีเดียว ส่วนการทำบาร์เตอร์เทรดระหว่างรถไฟความเร็วสูงกับข้าวไทยนั้น แม้ทั้งสองฝ่ายจะมีการเจรจาในรายละเอียดมาบ้างแล้ว แต่ในอดีตการแลกเปลี่ยนสินค้ากับสินค้าแทนเงินสดนั้นไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เพราะต่างตกลงราคากันไม่ได้  แต่หากดำเนินการรับรองนำข้าวในสต๊อกทั้งหมดก็ไม่เพียงพอ หรือแม้แต่นำยางพารา  มันสำปะหลัง  ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน และอ้อยมาผสมโรง ยังไม่เพียงพอในการแลกรถไฟความเร็วสูง เช่นกัน แม้เรื่องนี้จะเป็นเรื่องดีแต่ก็ดูยาก… เพราะการดำเนินการต้องมีผลประโยชน์อื่น ๆ มาแลกเปลี่ยนกันด้วยไม่ใช่เพียงแค่นำสินค้ามาแลกกันเท่านั้น โดยเฉพาะเรื่องรถไฟความเร็วสูงที่จีนต้องการให้ไทยสร้างรถไฟความเร็วสูงจากจีน-เวียดนาม-ลาว-หนองคาย เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางก่อนไปสิ้นสุดที่สิงคโปร์ แต่โครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาทของไทยรถไฟความเร็วสูงไปแค่โคราช หากไปหนองคายเพื่อเชื่อมกับลาวต้องรอเงินงวดหน้า การสร้างกระแสขายข้าวจีทูจีให้กับจีน…อาจเป็นเพียงเครื่องมือการเมืองที่ต้องการกลบข่าวข้าวในสต๊อกของรัฐบาลที่มีอยู่อีกจำนวนมาก ขณะเดียวกันอาจต้องการปั่นราคาข้าวไม่ให้ตกต่ำลง เพราะสุดท้ายแล้ว…หากกระแสข่าวขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าว…ยังมีออกมาเรื่อย ๆ นั่นหมายความว่า เก้าอี้ของรัฐบาล ก็อาจสั่นคลอน!. มนัส แววันจิตร

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ฝันขายข้าวให้จีนปีละล้านตัน รัฐเร่งโละสต๊อกแก้ขาดทุน…

Posts related