หลังจากรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภา มีผลให้การผลักดันนโยบายสำคัญต้องหยุดชะงักลง รวมถึงโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานประเทศระยะยาว 7 ปี มูลค่า 2 ล้านล้าน ที่ถูกจับตาจากสังคมอย่างมากว่าจะมีชะตากรรมอย่างไร และหากเกิดพับแผนไปจริง จะส่งผลได้เสียต่อประเทศไทยมากน้อยเพียงใด ที่มาโครงการนี้ รัฐบาลประกาศขายฝันเลยว่าจะเป็นการสร้างอนาคตไทย โดยมีการลงทุนขนาดใหญ่ระยะยาว 7 ปี ตั้งแต่ปี 57-63 เป้าหมายเพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคมขนส่งครั้งใหญ่ของประเทศ ทั้งถนน น้ำ ราง เพื่อหวังประโยชน์ในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งให้รวดเร็ว ลดต้นทุน การกระจายความเจริญสู่ชนบท การใช้เงินช่วยอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นแรงดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเข้าไทยเพิ่ม ไฮไลต์ที่สำคัญอยู่ที่แผนพัฒนาระบบรางที่มีแผนเงินทุนลงมากถึง 1.65 ล้านล้านบาท หรือ 80% ของโครงการทั้งหมด เพื่อพลิกโฉมจากรถไฟรางเดี่ยวให้เป็นระบบรางคู่ทั่วประเทศ การสร้างรถไฟฟ้าแก้ปัญหารถติดในเมือง 10 สาย รวมถึงการสร้างรถไฟความเร็วสูง พาหนะการเดินทางของประเทศร่ำรวย 4 สาย ไปภาคเหนือ อีสาน ตะวันออก และใต้ ส่วนงบที่เหลือยังถูกใช้เพื่อตัดและขยายถนน สร้างสถานีขนส่ง ท่าเรือขนาดใหญ่ และพัฒนาระบบศุลกากร สะดุด!รอศาลรัฐธรรมนูญ ความคืบหน้าถึงปัจจุบัน รัฐบาลสามารถผลักดันร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ผ่านการพิจารณาในสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภาได้แล้ว แต่ยังไม่ได้ทูลเกล้าฯ เนื่องจากถูกพรรคประชาธิปัตย์ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ และต่อมารัฐบาลได้ประกาศยุบสภา ทำให้แผนสร้างอนาคตไทยที่รัฐบาลวาดฝันไว้ ยังค้างเติ่งไม่รู้ชะตากรรมแน่ชัด!! เพราะขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ. ติดปัญหาอยู่ 2 ปมใหญ่ คือไม่รู้ว่าศาลรัฐธรรมนูญที่รับพิจารณาแล้วจะตัดสินว่าผิดหรือไม่ หากผิดก็ล้มทันที และยังไม่รู้ว่าการพิจารณาของศาลจะใช้เวลายาวนานแค่ไหน  เพราะศาลพิจารณาใช้เวลานาน ก็จะกระทบต่อโครงการบางส่วนที่มีแผนต้องเริ่มลงทุนกันในปี 57 ทันที ประเด็นต่อมา…คือการยุบสภา และการขาดรัฐบาลตัวจริงในการบริหารประเทศ ส่งผลให้การผลักดันครั้งนี้ ชะงักงัน ไม่ว่าจะเป็นการเดินหน้าทูลเกล้าฯ ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ต่อ หรือการใช้อำนาจของรัฐบาลในการจัดหาแหล่งเงินทุนจากอื่นมาใช้แทน พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท และยิ่งกว่านั้นปัญหาการเมืองในขณะนี้ยังวุ่นวายไม่มีทีท่าสิ้นสุด ไม่มีความแน่นอนว่าจะเลือกตั้งได้เมื่อใด? ชี้กระทบแผนฯ 8 หมื่นล้าน แม้ล่าสุดสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ออกมาประเมินผลกระทบแล้วพบว่า ผลจากการรอศาลฯ พิจารณา และสุญญากาศทางการเมืองที่เกิดขึ้น จะกระทบต่อแผนการลงทุน 2 ล้านล้านบาทในปี  57 ทันทีประมาณ 80,000 ล้านบาท โดยโครงการที่กระทบทันที ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่ไม่ต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ได้แก่โครงการก่อสร้างของทางหลวง คือ สร้างบูรณะทางหลวงสายหลักระหว่างภาค  เร่งรัดก่อสร้างขยาย 4 ช่องจราจรและเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง 6 สายทาง สร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา และสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ 22 แห่ง ต่อมาเป็นโครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานรถไฟ ได้แก่ ติดตั้งระบบโครงข่ายโทรคมนาคม  ติดตั้งและปรับปรุงเครื่องกั้นโครงการปรับปรุงทางราง หมอน สะพาน และติดตั้งรั้วการสร้างศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าในบริเวณติดกับด่านพรมแดนเชียงรายโครงการพัฒนาด่านศุลกากร ส่วนโครงการใหญ่อย่างการสร้างรถไฟรางคู่จะกระทบประมาณ 2 สาย คือ สายนครปฐม-หัวหิน สายมาบกะเบา จ.สระบุรี-ชุมทางถนนจิระสระบุรี จ.นครราชสีมา ที่ผ่านการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเสร็จก่อนในไตรมาสแรกปี 57 ส่วนโครงการรถไฟฟ้าในเมือง ก็จะกระทบทั้งสายสีเขียวหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่มีแผนประกวดราคาในปี 57 ต้องล่าช้าออกไป รวมถึงโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู มีนบุรี-แคราย ซึ่งอยู่ระหว่างทำเรื่องเสนอ ครม. อย่างไรก็ตามโครงการลงทุนใหญ่อย่างรถไฟความเร็วสูง 7.83 แสนล้านบาท รวมถึงรถไฟฟ้าในเมืองส่วนใหญ่ ยังไม่ได้รับผลกระทบทันที เพราะไม่มีแผนที่ต้องใช้เงินลงทุนในปี 57 เพราะโครงการเหล่านี้ต้องรอศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมก่อน โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงที่คาดว่าอย่างเร็วน่าจะประกวดราคาได้ในปีงบฯ 58 รอเวลาอ้างศึกษาไปเรื่อย ๆ ขั้นตอนหลังจากนี้ สิ่งที่ทำได้ คือการศึกษาความเหมาะสมต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ เพราะใช้เงินจากงบประจำปียังทำต่อไปได้ เพื่อรอจนกว่าจะได้รัฐบาลใหม่เข้ามาบริหาร หากเห็นด้วยก็สามารถเดินหน้าต่อได้ทันทีไม่เสียเวลา แต่หาก พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท เกิดอุบัติเหตุแท้งจริง ก็มีแผนสำรองให้จัดหาแหล่งเงินกู้อื่นมาใช้มี 3 แนวทาง ได้แก่ 1. การหาเงินในรูปแบบโครงการลงทุนเร่งด่วน แบบการลงทุนโครงการรถไฟฟ้า 2. การนำเงินโครงการทั้งหมดไปใส่ในงบประมาณในปีถัดไป แต่วิธีจะทำให้เงินงบประมาณดูเยอะมาก และยากต่อการปฏิบัติ และ 3. การทำงบประมาณกลางปี 57 เพื่อใช้ลงทุนโดยตรง ได้รัฐบาลมีคำตอบแน่ คำตอบเหล่านี้…จะตอบได้ก็ต่อเมื่อมีการเลือกตั้งได้รัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศแล้ว หากได้พรรคเพื่อไทยกลับมาเชื่อว่า โครงการทั้งหมดจะถูกผลักดันอย่างรวดเร็ว ทั้งในรูปแบบร่าง พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท ที่รอพิจารณาศาลฯ หรือการจัดหาแหล่งเงินทุนอื่นมาใช้แทนเพื่อไม่ให้ล่าช้า แต่หากเป็นรัฐบาลพรรคอื่น เชื่อว่าต้องมีการทบทวนโครงการใหม่ทั้งหมด และทำให้ภาพรวมทุกโครงการต้องล่าช้าออกไปมาก รวมถึงบางโครงการที่ไม่จำเป็น และถูกโจมตีมาก อย่างรถไฟความเร็วสูงอาจถูกตัดออกไปได้ด้วย ต้นทุนโลจิสติกส์พุ่งแน่ คำถามที่ตามมา คือ  ในกรณีเลวร้ายที่สุด หากแผนลงทุนทั้งหมดในโครงการ 2 ล้านล้านไม่เกิดขึ้นเลยใน 1-2 ปีนี้ ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร โดยมีการประเมินผลกระทบได้ดังนี้ ผลกระทบด้านโครงสร้างพื้นฐาน ในช่วง 2-3 ปี ประเทศไทยคงไม่มีปัญหาเรื่องการแข่งขันโลจิสติกส์ เพราะปัจจุบัน ไทยมีระบบคมนาคมขนส่งดีกว่าหลายประเทศในภูมิภาค โดยอยู่อันดับ 49 ของโลก และอันดับ 3 ในอาเซียน เป็นรองแค่สิงคโปร์ และมาเลเซีย แต่ระบบรางยังล้าหลังอยู่ อันดับ 65 ของโลก เพราะขาดการพัฒนามานาน ทำให้มีต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดีพีไทยอยู่ที่ 15.2% แต่ในอนาคตหากไม่พัฒนาระบบขนส่งเลย ความสามารถโลจิสติกส์ของไทยจะถดถอยแน่นอน เพราะขณะนี้หลายประเทศเริ่มตื่นตัวพัฒนาไปไกล และจะทำให้กระทบต่อแผนการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงระบบขนส่งต่าง ๆ กับเพื่อนบ้าน ที่กำลังแข่งขันพัฒนาประเทศเพื่อรองรับการลงทุน หลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 58 เช่น ลาวมีการสร้างรถไฟสายใหม่เชื่อมกับเวียดนาม และกำลังร่วมกับรัฐบาลจีน ทำรถไฟความเร็วสูงจากคุนหมิง-เวียงจันทน์ ขณะที่มาเลเซีย-สิงคโปร์ เพิ่งจับมือสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงกันซึ่งจะเสร็จในปี 2563 เป็นต้น นอกจากนี้ยังทำให้ไทยมีต้นทุนระบบขนส่งที่สูง เพราะพึ่งพาถนนมากถึง 82% เพราะการขนส่งชนิดนี้มีราคาแพงรองจากเครื่องบิน และมีความผันผวนในต้นทุนสูงขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันด้วย ขณะเดียวกันยังทำให้ขาดโอกาสในการพัฒนาระบบน้ำ และราง โดยเฉพาะทางทะเล ในการเชื่อมโยงฝั่งอันดามัน และอ่าวไทย เสียโอกาสทางเศรษฐกิจ ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ เดิมรัฐบาลประเมินว่าแผนการลงทุน 2 ล้านล้านบาทนี้ จะช่วยอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจให้เดินหน้าไปได้ตลอด 7 ปี และช่วยให้จีดีพีขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ1% อีกทั้งยังก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นอีก 5 แสนคน แต่หากโครงการเหล่านี้ไม่เกิด เม็ดเงินเหล่านี้จะขาดหายไป และกระทบต่อการเติบโตเศรษฐกิจมาก โดยเฉพาะในปี 57 ที่หวังใช้แรงลงทุนจากภาครัฐช่วยขับเคลื่อน ท่ามกลางวิกฤติการเมืองในประเทศ และปัญหาเศรษฐกิจโลก หากไม่เกิดการลงทุน เศรษฐกิจจะน่าเป็นห่วงทันที นอกจากนี้ยังทำให้หลายภาคธุรกิจได้รับผลกระทบตามมา เช่น ธุรกิจก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง ที่คาดจะได้รับประโยชน์โดยตรง ต้องซบเซาลงทันที รวมถึงท่องเที่ยว ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การส่งออก-นำเข้าสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงส์ ก็ขาดโอกาสในการเติบโตไปด้วย สังคมเมืองไม่ขยาย ผลกระทบต่อการขยายตัวของสังคมเมือง เมื่อไม่มีโครงการ 2 ล้านล้านบาท การกระจายความเจริญขยายตัวของสังคมเมือง การค้า การขนส่งไปต่างจังหวัด เช่น เชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี นครราชสีมา ชลบุรี และสงขลา ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีรถไฟความเร็วสูงหรือรถไฟทางคู่พาดผ่านต้องหยุดชะงัก ไม่สามารถเติบโตเป็นเมืองศูนย์กลางการค้า การขนส่งได้รวดเร็วอย่างที่หวังไว้ นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดปัญหาการกระจุกตัวในเมือง เพราะเดิมคาดว่าหากการเดินทางสะดวก การขนส่งสินค้า รวมทั้งข้อมูลข่าวสาร เข้าถึงได้รวดเร็วขึ้น จะทำให้เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน รวมทั้งการจ้างงานเติบโตในเมืองต่าง ๆ เติบโตรวดเร็ว เหมือนญี่ปุ่นที่หลังเปิดใช้รถไฟชิงกันเซ็งสายโตเกียว-โอซากา ในปี ค.ศ. 1964 ก็มีประชากรสูงกว่าจังหวัดทั่วไป 0.3% ต่อปี และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นมากกว่าจังหวัดอื่น ๆ ถึง 38% ต่อปี และมีการขยายตัวของรายได้ประชาชาติต่อหัว สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศถึง 2.6% ต่อปี ต่างชาติไม่เชื่อมั่น ผลกระทบด้านความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติ คงกระทบมากเพราะช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไทยไม่ได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เลย นับตั้งแต่มีสนามบินสุวรรณภูมิมา โครงการ 2 ล้านล้านบาท จึงเป็นที่สนใจจากต่างชาติมาก เพราะเดิมไทยมีความได้เปรียบในเรื่องที่ตั้งอยู่ใจกลางอาเซียนอยู่แล้ว หากมีระบบขนส่งที่ดีจะทำให้ต่างชาติ หันมาลงทุนใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพิ่มขึ้นอีก แต่ในทางกลับกัน เมื่อโครงการไม่เดินหน้า ประเทศไทยก็จะขาดจุดขาย แรงดึงดูดใหม่ ๆ ทันที ซึ่งสวนทางกับประเทศอื่นที่มีจุดเด่น เช่น เมียนมาร์ที่กำลังเปิดประเทศ และมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์เป็นจุดขาย อินโดนีเซียมีค่าแรงราคาถูก และกำลังซื้อภายในประเทศมหาศาล เป็นต้น เหล่านี้…. ถือเป็นอนาคตของประเทศส่วนหนึ่ง ที่ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด เพราะท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้น อาจส่งผลต่อการพัฒนาประเทศไทยให้เดินหน้า หรือหยุดชะงักลงได้ด้วยเช่นกัน. ศักดิ์ชัย อินทร์จันทร์

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ฝันสลายโครงการ 2 ล้านล้านจับตาประเทศไทยได้หรือเสีย

Posts related