อุณหภูมิหน้าร้อนของไทยเวลานี้ กำลังหนักหนาสาหัส เหมือนกับอุณหภูมิการเมืองเข้าทุกวัน ล่าสุด…กรมอุตุนิยมวิทยา ประเมินว่าในเดือน เม.ย.นี้ อุณหภูมิของประเทศมีสิทธิร้อนฉ่าสูงไปจนถึง 40 องศาเซลเซียส เรียกว่าเข้าขั้น “ร้อนตับแตก” กันทีเดียว ที่สำคัญการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) จะยิ่งพุ่งพรวดขึ้นไปอีก เพราะเพียงแค่หน้าร้อนของปีก่อนทั้งที่อุณหภูมิไม่ถึง 40 องศาฯ ด้วยซ้ำ แต่หลายบ้านหลายครัวเรือนก็กระหน่ำใช้ไฟจนปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในเดือน เม.ย.56 พุ่งไปถึง 26,121 เมกะวัตต์ ทีเดียว เมียนมาร์ปิดซ่อมท่อก๊าซฯ  อย่างไรก็ตามปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ยิ่งพุ่งสูงขึ้นไปอีกในเดือน พ.ค. 56 ที่มีปริมาณมากถึง 26,598 เมกะวัตต์ แต่ขณะเดียวกันในทุกเดือน เม.ย. ของทุกปีจะเป็นเดือนที่มีความสำคัญในการผลิตไฟฟ้าของไทยอย่างมาก เพราะประเทศเมียนมาร์ ที่เป็นผู้ขายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานา-เยตากุน ให้กับไทย ต้องปิดซ่อมบำรุง จนทำให้รัฐบาลต้องประกาศ “ภาวะฉุกเฉินระดับชาติ” ไล่ต้อนให้ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม บริการ และภาคการท่องเที่ยว ช่วยกันประหยัดไฟฟ้า ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ต้องลุ้นระทึกต่อไปในทุกปี ในฐานะที่เป็นผู้นำเข้าพลังงานเกือบ 100% โดยในช่วง เม.ย. ปีนี้ แหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติบงกช ที่อ่าวไทย ประกาศปิดซ่อมแก้ไขท่อ 32 นิ้ว จากเดิมกำหนดเวลาซ่อมท่อในวันที่ 10 เม.ย.–5 พ.ค. 57 แต่ได้ปรับลดเวลาให้เร็วขึ้น เป็น 10-27 เม.ย. 57 เหลือ 18 วันแทน มั่นใจรับมือหน้าร้อนได้  “สุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ”ปลัดกระทรวงพลังงาน ประเมินสถานการณ์หน้าร้อนปีนี้ของไทยว่า กระทรวงพลังงานเชื่อว่ารับมือได้อย่างแน่นอน เนื่องจากหน้าร้อนปีนี้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดไม่น่าจะเพิ่มขึ้นมาก เพราะผลกระทบทางการเมืองที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว จึงคาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าของทั้งภาคการผลิตของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ภาคบริการ ภาคการท่องเที่ยวจะลดลง รวมทั้งอุณหภูมิหน้าหนาวของปีนี้ยาวนานกว่าปกติ จึงทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ำกว่าปีที่ผ่านมา  ทั้งนี้เห็นได้จากจากสถิติปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตั้งแต่ต้นปี 57 จะลดลงกว่าปีที่ผ่านมา โดยเดือน ม.ค. 57 มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุด 22,556 เมกะวัตต์ ลดลง 3.56% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เดือน ก.พ. มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุด 23,658 ลดลง 3.79% เดือน มี.ค. คาดการณ์ว่า มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด 24,209 เมกะวัตต์ ลดลง 8.38% ขณะที่เดือน เม.ย. ปีนี้คาดว่า จะมีการใช้ไฟฟ้า 23,000–24,000 เมกะวัตต์ ส่วนการปิดซ่อมแหล่งก๊าซฯ บงกช ไม่ใช่สถานการณ์ที่น่าห่วง เพราะแหล่งก๊าซฯบงกชอยู่ในอ่าวไทย สามารถใช้น้ำมันเตา และก๊าซแอลพีจีจากแหล่งใกล้เคียงมาช่วยเสริมในการผลิตไฟฟ้าแทน ต่างจากสถานการณ์ในปีที่ผ่านมา ที่เป็นการปิดซ่อมแหล่งก๊าซฯยาดานา–เยตากุน ของเมียนมาร์ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าสำคัญของไทย โดยปีนี้ได้เลื่อนไปซ่อมบำรุงในช่วงปลายปีแทน กลางปีเจอวิกฤติแน่  แม้สถานการณ์น่าร้อนปีนี้ดูแล้วไม่น่าห่วง แต่ปลัดกระทรวงพลังงานยอมรับว่า ปัญหาหนักใจน่าจะเกิดในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.นี้ ที่อาจเกิดวิกฤติพลังงานอีกครั้ง เนื่องจากจะมีการปิดซ่อมท่อก๊าซฯ ที่รับจากแหล่งก๊าซธรรมชาติพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (เจดีเอ) บริเวณ แหล่ง เอ 18 ประเทศมาเลเซีย จะปิดซ่อมระหว่างวันที่ 13 มิ.ย.–10 ก.ค. จำนวน 28 วัน ซึ่งจะกระทบโดยตรงกับการผลิตไฟฟ้าในภาคใต้ทันที จากปกติที่การผลิตไฟฟ้าในภาคใต้ก็มีปัญหาอยู่แล้ว เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้สูงกว่าปริมาณการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าจะนะ จังหวัดสงขลา ต้องนำไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าราชบุรี จังหวัดชลบุรี มาเพิ่มเติมตลอดเวลา ผลิตไฟฟ้าภาคใต้จุดอ่อน  ต้องยอมรับว่าการผลิตไฟฟ้าในภาคใต้ ถือเป็นจุดอ่อนมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับทุกพื้นที่ เรียกได้ว่า มีไฟฟ้าพอชนิด ปริ่ม ๆ แต่ไม่มั่นคง โดยปีที่ผ่านมาความต้องการใช้ไฟฟ้าของภาคใต้ อยู่ที่ 2,300 เมกะวัตต์ ปีนี้คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 2,400-2,500 เมกะวัตต์ แต่โรงไฟฟ้าทางภาคใต้จะผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 1,600 เมกะวัตต์ นำไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าราชบุรี 500 เมกะวัตต์ และซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียอีก 300 เมกะวัตต์ หากแหล่งเจดีเอ หยุดซ่อมบำรุง จะทำให้ปริมาณไฟฟ้าหายไปประมาณ 700 เมกะวัตต์ ทางกระทรวงพลังงานจึงได้ทำแผนรับมือ โดยมีการประชุมทุกเดือนเพื่อรับมือสถานการณ์การปิดซ่อมแหล่งท่อก๊าซธรรมชาติในที่ต่าง ๆ  เร่งทำแผนรับมือทุกทาง  ส่วนกรณีแหล่งเจดีเอได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงพลังงานทำแผนรับมือผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอในภาคใต้ เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยไฟฟ้าดับใน 14 จังหวัดภาคใต้ โดยเบื้องต้นได้ให้ กฟผ. หาแหล่งผลิตไฟฟ้ามาเสริมความมั่นคงในภาคใต้อีกประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ ส่วนตัวเลขที่ชัดเจนจะมีการประเมินอีกครั้ง, ให้กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ไปเจรจากับโรงกลั่นน้ำมัน 3 แห่ง ได้แก่ ไทยออยล์ เอสโซ่ และบางจาก เพื่อให้เลื่อนการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นที่จะหยุดบางหน่วยช่วงเดียวกับแหล่งเจดีเอ, ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) ขอให้โรงไฟฟ้าแห่งอื่น ๆ เพิ่มกำลังการผลิต และป้อนไฟฟ้ามาสำรองให้กับภาคใต้แทน คาดว่าจะเสริมได้ประมาณ 70–100 เมกะวัตต์ รวมถึงวิธีประหยัดอื่น ๆ หากไม่เพียงพอจริงก็ได้สั่งการให้ กฟผ. ขอความร่วมมือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำเป็นต้องดับไฟในบางพื้นที่ที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด ซึ่งถือเป็นวิธีสุดท้ายที่จะดำเนินการ  รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการรณรงค์ประหยัดพลังงานไฟฟ้าอย่างจริงจังตลอดเวลา ไม่ใช่ทำแค่ช่วงวิกฤติเท่านั้น ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้!. จิตวดี เพ็งมาก

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : พลังงานยันหน้าร้อนนี้‘เอาอยู่’ จับตามิ.ย.–ก.ค.ส่อวิกฤติแทน

Posts related