บทความนี้เป็นเหมือนตอนต่อของ จอบ่คอร์Ž ที่เขียนไว้สักพักหนึ่งแล้วในคอลัมน์นี้ เกี่ยวกับการที่ต้องมีคอร์หรือสมองประกบประจำอยู่กับทุกจอ ทำให้ชีวิตของผู้คนต้องกระจายไปอยู่ตามจอต่าง ๆ เหมือนแบ่งภาคอวตารและมักมีความขัดแย้งระหว่างภาคต่าง ๆ ที่อวตารไป ไม่รู้ว่าไหนองค์จริงไหนองค์จำลอง ข้อมูลที่กระจายไปก็เช่นกันมักเกิดอาการเขย่งไม่ค่อยจะต้องตรงกันสักเท่าไร ตอนนี้ผู้คนเริ่มอยู่กับจอภาพมากขึ้น ไปไหนก็เห็นจอภาพอยู่ทั่วไป เห็นป้ายบอกสภาพการจราจร (ที่มีโฆษณาแฝงอยู่ด้วย) จอแสดงหนังตัวอย่างตามศูนย์การค้า กลายเป็นยุคของหลากหลายจอที่ผมขอเรียกว่า พหุบัญชร พหุŽ แปลว่า หลายŽ ส่วน บัญชรŽ แปลว่า หน้าต่างŽ เรียกว่าหลากหลายหน้าต่างที่ผู้คนใช้มองโลกภายนอก จอภาพทั่วไปแบ่งได้คร่าว ๆ เป็นสี่ขนาดคือ เล็กเหมาะมือ (มือถือ) ขนาดตั้งโต๊ะและพกพา (โน้ตบุ๊กและแท็บเล็ต) จอใหญ่ (ทีวี ไปจนถึงป้ายโฆษณาในโรงหนังสมัยใหม่) และจอยักษ์ (จอในโรงหนังไปถึงจอยักษ์สำหรับโฆษณาตามศูนย์การค้า) ซึ่งใช้งานแตกต่างกัน แต่จอเหล่านี้หนีไม่พ้นการเป็นส่วนหนึ่งของระบบรับข่าวสารอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น จอทีวีใช้รับรายการที่ออกอากาศมา จอมือถือไว้ดูผลการทำงานของคอมพิวเตอร์ที่แฝงอยู่ภายในเพื่อค้นข้อมูลในเน็ตหรือส่งอีเมล จอยักษ์ในโรงหนังก็สำหรับดูหนังจากฮอลลีวูด ภาพ เสียง และข้อมูลบนจอภาพต่างก็มีรากมาจาก ข้อมูลŽ หรือ สื่อสาระŽ ทั้งนั้น ซึ่งในโลกสมัยใหม่ต่างเป็นสาระดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นรายการทีวี โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ข้อความเฟซบุ๊ก หรือเกมออนไลน์ ซึ่งสามารถส่งผ่านได้ทั้งผ่านเสาอากาศ เคเบิลทีวี จานดาวเทียม หรือผ่านเน็ต และสุดท้ายคือจะผ่านระบบดิจิทัลทีวีที่กำลังจะเปิดประมูลในเร็ววัน แม้แต่จอยักษ์ในโรงหนังก็ไม่เว้น เพราะสมัยนี้เขาฉายจากไฟล์คอมพิวเตอร์แบบเดียวกับเวลาดูวิดีโอบนจอคอมพิวเตอร์ โดยทางโรงหนังก็ไป โหลดŽ หนังมาจากต้นสังกัดเวลาหนังลงโรง ปัจจุบัน ระบบวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่แฝงอยู่กับจอพวกนี้เริ่มฉลาดขึ้นถึงขั้นที่เอาคอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋วยัดลงไปทั้งตัว ทำ ให้จอทีวีได้เปรียบ เพราะขนาดใหญ่ภาพโต แถมยังรับสาระจากสื่ออื่น ๆ ได้อีก เช่น รับจากคอมพิว เตอร์ผ่านสาย เอาธัมบ์ไดร์ฟ (thumb drive) หรือฮาร์ดดิสก์ไปเสียบตรง ๆ เลยก็ยังได้ ยิ่งปัจจุบันการเชื่อมโยงข้ามจากระบบหนึ่งหรือจอหนึ่งไปยังอีกจอหนึ่ง ก้าวหน้าไปอีกขั้นคือใช้ระบบไร้สาย ทำให้ยิ่งสะดวกมากถึงมากที่สุด อย่างวันก่อนพรรคพวกซื้อของเล่นไฮเทค เจ้าโครมคาสต์ (chromecast) ของบริษัทกูเกิล หน้าตาเหมือน ธัมบ์ไดร์ฟยักษ์ เสียบยูเอสบีพอร์ต เชื่อมต่อได้สองทาง ทางหนึ่งคือต่อไปยังกูเกิลผ่านเครือข่ายในบ้านเหมือนคอมพิวเตอร์ตัวหนึ่ง อีกทางหนึ่งคือยอมให้โน้ตบุ๊ก แท็บเล็ต มือถือ ต่อแบบไร้สายไวไฟ (wifi) มาที่ตัวมันได้ สามารถดูหนังฟังเพลงบนมือถือแล้วไปออกที่จอใหญ่ของทีวีได้สะดวก นั่งดูได้สบายตา ผมงัดเอายูทูบ (YouTube) ไปขึ้นจอใหญ่ให้ได้ทันที ทำให้รู้สึกได้ว่าทีวีที่บ้านชักมีประโยชน์ขึ้นมาบ้างแล้วสิ ที่สำคัญคือไม่ต้องมาคอยจ่ายค่ารายเดือน จ่ายค่าเน็ตที่บ้านเหมาไปอย่างเดียวก็พอ ความที่ช่วงหลังจะหาข่าวหาสาระผ่านเน็ตพร้อมไปกับการเล่นเน็ตคุยกับพรรคพวกและครอบครัวผ่านมือถือและโน้ตบุ๊ก แต่การที่จอเล็ก รู้สึกเลยว่าสายตาย่ำแย่ลงไปเยอะทีเดียว แต่ตอนนี้เครื่องจอเล็ก ๆ มี พี่ใหญ่Ž จอกว้างสบายตาคอยเป็นพี่เลี้ยงกำกับอยู่ ชีวิตก็เลยมีความสุขขึ้นมากครับ นอกจากนี้ในอนาคต หากเน็ตแรง ๆ ราคาไม่แพงและเจ้าของสาระและรายการทั้งหลายเริ่มตื่นตัวกับช่องทางสมัยใหม่ในการกระจายสาระรายการของตน พวกเราก็จะเหลือช่องทางรวมเพียงช่องเดียว เพื่อรับข่าวสารสาระต่าง ๆ ผ่านทางเน็ต จากสายเคเบิลหรือสายใยแก้วความเร็วสูง แล้วมาออกอุปกรณ์ต่าง ๆ จอต่างขนาดรอบตัวเราด้วยระบบไร้สายที่น่าจะเร็วขึ้นสะดวกขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ต้องติดตั้งจานดาวเทียมแปดเจ้าไว้ในสนามหน้าบ้านอย่างตอนนี้ เชื่อว่าเทคโนโลยีเชื่อมโยงจอแบบไร้สายบน พหุบัญชรŽ นี้จะแพร่หลายอย่างรวดเร็ว ช่วยให้มีหน้าต่างสู่โลกหลายบานหลายขนาดสำหรับผู้คนในการเลือกรับสาระในต่างโอกาสกัน เวลาอยู่นอกบ้านก็ดูจอของมือถือก็เล็กหน่อย อยู่บ้านก็ดูจอใหญ่ นั่งรถไปก็ดูผ่านจอในรถ หรือฝันต่อว่าต่อไปร้านกาแฟอาจมีบริการโครมคาสต์สำหรับลูกค้า สามารถส่งหนังจากมือถือไปขึ้นจอของทางร้าน จิบกาแฟไปดูข่าวม็อบไปก็สุนทรีย์ดีนะครับ. อ.ดร.ยรรยง เต็งอำนวย ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ (ครบ 100 ปี) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Yunyong.T@Chula.ac.th

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : พหุบัญชร – 1001

Posts related