สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ หรือ สทน. จัดตั้งห้องปฏิบัติการปรับปรุงสมบัติของพอลิเมอร์ด้วยรังสี ซึ่งเน้นการทำงานวิจัยที่นำรังสีมาประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงสมบัติของพอลิเมอร์ต่าง ๆ ทั้งพอลิเมอร์ธรรมชาติ และพอลิเมอร์สังเคราะห์ โดยมีเครื่องมือวิทยาศาสตร์สำคัญ คือ เครื่องอัดรีด ซึ่งเป็นเครื่องที่ใช้ในการผสมเม็ดพลาสติก (plastic pellets) และเครื่องฉายรังสีแกมมา เพื่อผลิตพอลิเมอร์ที่มีสมบัติตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ดร.สมพร จองคำ ผู้อำนวยการ สทน.กล่าวถึงความเป็นมาของห้องปฏิบัติการดังกล่าวว่า ปัจจุบันในบริษัทใหญ่ ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ตระหนักถึงผลกระทบของสิ่งแวดล้อม จึงหันมามองการผลิตภาชนะที่มีการย่อยสลายได้ง่ายใช้เวลาที่รวดเร็ว แต่ก็ต้องมีความคงทนมากพอให้การบรรจุ ทั้งในเรื่องทนอุณหภูมิสูง บรรจุได้ตามระยะเวลาที่ต้องการ และความเหนียวทนทานพอจะรับกับผลิตภัณฑ์ที่จะบรรจุลงไปในภาชนะ นั้น ๆ ด้วย สทน.ซึ่งมีนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านพอลิเมอร์ พร้อมทั้งสามารถนำประโยชน์ของรังสีมาใช้ร่วมกับงานวิจัยด้านพอลิเมอร์ สทน.จึงดำเนินการจัดตั้งห้องปฏิบัติการดังกล่าวขึ้นโดย เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มงานวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์ (วพ.) สำหรับงานวิจัยที่สำเร็จไปแล้วได้แก่ โครงการ “การขยายขอบเขตของการนำ “พอลิแลกติกแอซิด”  (polylactic acid) พลาสติกชีวภาพที่ทรงศักยภาพที่สุด ไปประยุกต์ใช้ทางอุตสาหกรรม โดยกรรมวิธีทางรังสี” ซึ่งได้รับทุนวิจัยสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยงานวิจัยดังกล่าวเป็นของ ดร.เกศินี เหมวิเชียร และ ดร.พิริยาธร สุวรรณมาลา โดย ดร.เกศินี นักวิทยาศาสตร์นิว เคลียร์ เล่าถึงงานวิจัยว่า เป็นการนำพอลิแลกติกแอซิด หรือพีแอลเอ ซึ่งเป็นพอลิเมอร์ที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ มาปรับปรุงสมบัติทางความร้อน โดยการใช้รังสีเหนี่ยวนำให้เกิดการเชื่อมโยงพันธะ (radiation-induced crosslinking) ระหว่างสายเส้นของ พีแอลเอจากผลการวิจัยในครั้งนี้พบว่า เมื่อมีการเติมสารเติมแต่งบางชนิด การฉายรังสีสามารถเหนี่ยวนำให้เกิด crosslinking ใน พีแอลเอได้ ทำให้โมเลกุล มีขนาดใหญ่ขึ้น และก่อให้เกิดโครงสร้างร่างแหแบบสามมิติ ซึ่ง ช่วยปรับปรุงความเสถียรทางความร้อนของ พีแอลเออย่างเห็นได้ชัด นั่นคือ เมื่อนำตัวอย่าง พีแอลเอ ที่ไม่ผ่านการฉายรังสี มาให้ความร้อน ตัวอย่างจะเริ่มอ่อนตัวและเกิดการเสียรูป ที่ประมาณ 80 องศาเซลเซียส และเสียรูปอย่างสิ้นเชิง (หากมีแรงดึง ตัวอย่างจะยืดจนขาด) ในขณะที่เมื่อนำตัวอย่าง พีแอลเอ ที่ผ่านการผสมสารเติมแต่งไปฉายรังสี แล้วนำมาให้ความร้อน ตัวอย่างจะเริ่มอ่อนตัวและเสียรูปเพียงเล็กน้อยที่ประมาณ 80 องศาเซลเซียสเช่นกัน แต่สามารถคงรูปอยู่ได้ แม้อุณหภูมิจะสูงกว่า 200 องศาเซลเซียส โดยไม่ยืดจนขาด นอกจากจะมีความเสถียรทางความร้อนมากขึ้นแล้ว ตัวอย่าง พีแอลเอที่ผ่านการปรับปรุง ยังสามารถคงความใสและโปร่งแสง ไว้ได้ ถึงแม้ว่าจะถูกนำไปอบในตู้อบความร้อนที่อุณหภูมิ 90 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 30 นาที หรือที่อุณหภูมิสูงถึง 200 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 5 นาทีก็ตาม ทั้งนี้จากผลการทดลองดังกล่าว ทางทีมวิจัยของ สทน. จะนำไปทดลองต่อยอดความเป็นไปได้ในการผลิตภาชนะพอลิเมอร์ที่สามารถทนความร้อนสูงในเชิงธุรกิจต่อไป. 

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : พอลิเมอร์ทนร้อนสูงด้วยรังสีแกมมา

Posts related