หลายคนคงเริ่มคุ้นเคยกับจอแสดงผลเรืองแสงขนาดเล็กบนหน้าจอโทรศัพท์มือถือหรือกล้องดิจิตอลไฮเทค ที่เรียกกันว่าจอโอแอลอีดี (OLED) หรืออุปกรณ์ไดโอดเรืองแสงอินทรีย์ ที่ปัจจุบันถือเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ได้รับความสนใจ และนำไปผลิตเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เพราะนอกจากจะสร้างความสวยงาม สมจริงตามธรรมชาติแล้วยังเป็นเทคโนโลยีสีเขียวที่ช่วยประหยัดพลังงานเนื่องจากใช้สารอินทรีย์เรืองแสงด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้าเป็นแหล่งพลังงาน สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ในประเทศไทย เชื่อหรือไม่ว่า…แม้ขณะนี้เราจะยังอยู่ในฐานะผู้ใช้เทคโนโลยี แต่ก็ยังมีนักวิจัยไทยให้ความสนใจและมุ่งศึกษาเทคโนโลยีดังกล่าวมากว่า 10 ปี อย่างเช่น “การพัฒนาโมเลกุลสารอินทรีย์สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ” ของรองศาสตราจารย์ ดร.วินิช พรมอารักษ์ และคณะ จากภาควิชาเคมี สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี รศ.ดร.วินิช บอกว่า เนื่องจากทำเรื่องโมเลกุลสารอินทรีย์ สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอ นิกส์มาตั้งแต่ศึกษาอยู่ต่างประเทศ เมื่อกลับมาทำงานจึงสานต่อองค์ความรู้เรื่องนี้ในประเทศไทย เรียกได้ว่าเป็นรุ่นแรก ๆ ที่ทำเรื่องนี้ เมื่อประมาณ 10 กว่าปีก่อน โดยได้กลับมาตั้งทีมวิจัย สร้างห้องปฏิบัติการและเริ่มสร้างเป็นอุปกรณ์ มีการทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่องและได้รับการสนับสนุนจาก สกว.หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย งานวิจัยนี้มุ่งเน้นการออกแบบ สังเคราะห์ และศึกษาสมบัติของโมเลกุลสารอินทรีย์ สำหรับใช้ในอุปกรณ์ไดโอดเรืองแสงอินทรีย์หรือ โอแอลอีดี โดยหลักการการเปล่งแสงของโอแอลอีดี เกิดจากการเปล่งแสงของแผ่นฟิล์มบางโมเลกุลสารอินทรีย์เมื่อได้รับกระแสไฟฟ้า ด้วยสมบัติของพื้นที่การเปล่งแสงที่สามารถทำให้มีขนาดใหญ่ได้ และแสงสีที่ปล่อยออกมาสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามโครงสร้างของสารอินทรีย์ ทำให้มีการพัฒนาเพื่อประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้สำหรับเป็นแผ่นหลอดไฟฟ้าแบบประหยัดพลังงาน ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของคณะวิจัย ทั้งนี้คณะวิจัยได้ทำการพัฒนาโมเลกุลสารเรืองแสงสารอินทรีย์ชนิดใหม่หลาย ๆ รูปแบบ และยังออกแบบโมเลกุลให้มีสมบัติอื่น ๆ ที่ดีเพิ่มขึ้นด้วย เช่น สมบัติทางความร้อน ความเสถียรทางไฟฟ้าเคมี สมบัติการส่งผ่านประจุ สมบัติทางสัณฐานวิทยา ซึ่งจะทำให้ โอแอลอีดีที่ได้ มีทั้งประสิทธิภาพในการเปล่งแสงและเสถียรที่ดี นักวิจัยบอกว่า จากการศึกษาครั้งนี้ทำให้เข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างโมเลกุลกับสมบัติของสารที่ได้ จะนำไปสู่การพัฒนาของเทคโนโลยีด้านอิเล็กทรอนิกส์สารอินทรีย์ในขั้นต่อไป นอกจากนี้ยังจะถูกนำไปพัฒนาต่อยอดในการสร้างต้นแบบของแผ่นหลอดไฟฟ้าแบบประหยัดพลังงานแสงสีแดง เขียว และน้ำเงิน อย่างไรก็ดีตามข้อมูลที่ได้จากโครงการวิจัยนี้ ถือว่ายังอยู่ในขั้นตอนเริ่มต้นเท่านั้น ซึ่งต้องอาศัยเวลาอีกระยะหนึ่งในการศึกษาต่อยอดองค์ความรู้ดังกล่าว และหากสำเร็จจะเป็นการช่วยลดการนำเข้าเทคโนโลยีด้านพลังงานจากต่างประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอีกด้วย. นาตยา คชินทร nattayap.k@gmail.com

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : พัฒนาโมเลกุลสารอินทรีย์สร้างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

Posts related