นายสมชัย สัจจพงษ์ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ( สศค.) เปิดเผยว่า  สศค.ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 56 เหลือ2.8% จากเดิมคาดการณ์ว่าจะโต 3.7%  เนื่องจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้จึงกระทบต่อการส่งออกของไทยติดลบ 0.6%   ประกอบกับปัญหาการเมืองในประเทศทำให้การบริโภคและการลงทุนชะลอตัวลงเนื่องจากขาดความเชื่อมั่นในประเทศ  โดยในปี57  คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวประมาณ 4 % จากเดิมที่ตั้งไว้  5.1%   แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องมีการเลือกตั้งในวันที่2 ก.พ. 57 และจัดตั้งรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ   พร้อมทั้งจะต้องเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐโดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานของประเทศประมาณ 30% “ การจัดตั้งรัฐบาลจะแล้วเสร็จประมาณปลายก.พ.หรือต้นเดือนมี.ค.57 ทำให้โครงการต่าง ๆ สามารถเดินหน้าได้ช้าหรือประมาณกลางปีหน้า จึงคาดว่าการลงทุนขนาดใหญ่เช่น 2 ล้านล้านบาทตามแผนปีแรกจะลงทุน  68,000 ล้านบาท และลงทุนบริหารจัดการน้ำ 94,000ล้านบาทนั้น จะลงทุนได้จริงเพียง 30% ยกเว้นกรณีปัญหาการเมืองยืดเยื้อการทบต่อการท่องเที่ยวจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง300,000 คน และการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ทำได้เพียง 10%จะทำให้จีดีพีโตได้เพียง3.5% และถ้ากรณีเลวร้ายสุดการเมืองเกิดความรุนแรงจีดีพีอาจจะต่ำกว่า 3% ส่วนการส่งออกในปีหน้าคาดว่าจะอยู่ที่6.5% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว ทั้งสหรัฐอเมริกายุโรป จีนและญี่ปุ่น” สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยคือปัจจัยการเมืองภายในประเทศมากกว่าปัจจัยต่างประเทศเพราะไม่สามารถคาดการณ์ทางออกเรื่องการเมืองได้ แต่ต้องติดตามการยกเลิกมาตรการคิวอีของสหรัฐว่าจะกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายมากน้อยแค่ไหนซึ่งเชื่อว่าการยกเลิกคิวอีจะไม่กระทบต่อสภาพคล่องของไทยมากนัก  และปัจจุบันไทยมีสภาพคล่องส่วนเกินสูงถึง 2.5ล้านล้านบาท  แต่อาจทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงซึ่งประเมินไว้ที่30.20-32.20 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้มีความเป็นห่วงการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยหรือในช่วงที่เศรษฐกิจซึมจากปัญหาการเมืองในประเทศจะทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคภายในประเทศลดลงและอาจทำให้ลูกหนี้มีปัญหาด้านความสามารถในการชำระหนี้กับธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจจนทำให้เกิดปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น  ซึ่งปัจจุบันเอ็นพีแอลเฉลี่ยอยู่ที่  3% หากสูงกว่า 5-6 % จะเข้าสู่ภาวะอันตรายและกรทบต่อโครงสร้างระบบเศรษฐกิจโดยรวมเพราะที่ผ่านมาตัวเลขการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต)ในเดือนพ.ย. ลดลง 8.3% แสดงให้เห็นว่าการบริโภคในประเทศเริ่มลดลงแล้ว  ดังนั้นกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยหรือธปท.ต้องติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดอย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามูดี้ส์อินเวสเตอร์เซอร์วิสได้สอบถามถึงปัญหาการเมืองในประเทศเพื่อประเมินเศรษฐกิจไทยก่อนจัดเครดิตเรตติ้งอีกครั้ง  นอกจากนี้ยังได้กำชับให้หน่วยงานข้าราชการ รัฐวิสาหกิจเร่งการเบิกจ่ายงบลงทุนที่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้วเพราะเห็นว่าในช่วงที่เกิดสุญญากาศทางการเมือง การเบิกจ่ายงบประมาณปี  57 โดยเร็ว จะช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ไม่มีมาตรการใหม่จากรัฐบาล เนื่องจากที่ผ่านมามีการทำงบขาดดุลอยู่250,000 ล้านบาท 

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : พิษการเมืองสศค.หั่นจีดีพีปีหนี้เหลือ 2.8%

Posts related