ปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อมากว่า 3 เดือน ได้ฉุดอารมณ์บริโภคของคนไทยในเวลานี้อย่างหนัก รวมทั้งยังเข้าสู่ฤดูการชะลอการใช้จ่าย แถมยังมีเรื่องของหนี้ครัวเรือนที่พุ่งขึ้น ทำให้ยอดการรูดบัตรเครดิตในเวลานี้ ดูจะไม่คึกคักเหมือนแต่ก่อน ด้วยเหตุนี้ทำให้บรรดาผู้ประกอบการบัตรเครดิต ไม่ว่าจะเป็นบรรดาธนาคารพาณิชย์ หรือที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ หรือนอนแบงก์ ต้องพาเหรดงัดลูกเล่นทางการตลาด ออกมา  กระตุกอารมณ์ของนักช้อปทั้งรายใหม่และรายเดิมกันเป็นแถว ด้วยเหตุนี้จึงได้เห็นสารพัดโปรโมชั่น ที่แบงก์และนอนแบงก์งัดออกมาใช้ในต้นปีม้าทองกันอย่างละลานตากันไปตามสไตล์ของแต่ละบริษัท เริ่มจากค่าย “เคทีซี” ที่เน้นเจาะหมวดใช้จ่ายหลัก ทั้ง กิน-ช้อป-เที่ยว-ประกัน เพื่อสมาชิกบัตรเครดิตทั่วไทย เริ่มจากโปรโมชั่น “999 คะแนน แลกรับเมนูอร่อย” กับ 29 จานเด็ด จาก 12 ร้านดังทั่วประเทศ พร้อมอัดโปรโมชั่นสุดเซอร์ไพร้ส์ ตลอดปี จัด “เคทีซี ฟรายเดย์ ดีไลท์” คะแนนเพิ่มค่า ทุกศุกร์สิ้นเดือนกับร้านค้าที่ร่วมรายการ โดยสมาชิกสามารถติดตามกิจกรรมเซอร์ไพร้ส์ได้ทางเฟซบุ๊ก www.facebook.com/Ktc Real Privileges ตามติดแบงก์ใบโพธิ์เปิดตัว “บัตรเครดิตไทยพาณิชย์ เอ็กซ์   ตร้า แพลทินัม” ดึงพระเอกหนุ่มสุดฮอตอย่าง “เจมส์ มาร์” มาเป็นพรีเซ็นเตอร์คนล่าสุด ซึ่งเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในวัยทำงานที่มีไลฟ์สไตล์ทางการเงิน เพื่อสร้างการรับรู้ไปยังผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายที่เป็นวัยทำงาน  ภายใต้สโลแกนว้าว! ทั้ง! วีค!  ในบัตรเดียว  โดยทุกการใช้จ่ายผ่านบัตร 25 บาท รับคะแนนสะสม 1 คะแนนและจะได้รับเพิ่มอีก 1 คะแนน รวมเป็น 2 คะแนน เมื่อใช้จ่ายตรงวัน ตรงหมวด โดยแคมเปญนี้ตั้งเป้าขยายฐานลูกค้ากลุ่มสมาร์ท สเปนเดอร์   เพิ่มขึ้น 100,000 รายจากฐานลูกค้าปัจจุบันที่มีอยู่ 700,000 ราย ภายในปีนี้ ฝั่งแบงก์รวงข้าวอัดแคมเปญ “บัตรเครดิตกสิกรไทย บัตรเดียว เที่ยวเหมาลำ” โดยลูกค้าที่ถือบัตรสามารถแลกรับตั๋วเครื่องบินไป-กลับเส้นทางบินในประเทศ ด้วยการสะสมคะแนนเคแบงก์รีวอร์ด พ้อยท์  เพียง 1,000 คะแนนบวกเงิน 1,000 บาท ต่อ 1 ที่นั่ง สามารถแลกตั๋วโดยสารเที่ยวบินในประเทศและต่างประเทศได้ทั้งปี ซึ่งลูกค้าแลกตั๋วสูงสุดได้ 2 ที่นั่ง และเที่ยวบินจะมีวันศุกร์ทุกสัปดาห์ตลอดทั้งปีนี้ เริ่มเที่ยวบินแรกวันที่ 7 มี.ค.นี้ รวมที่นั่งตลอดรายการมากกว่า 16,000 ที่นั่ง โดยตั้งเป้าหมายขยายฐานใหม่อีก 715,000 ใบ หรือเติบโต 20% และยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรอยู่ไว้ที่  356,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 35% ส่วนแบงก์ใหญ่อย่าง “บัวหลวง” หรือแบงก์กรุงเทพ ดูจะ     แผ่ว ๆ ลงไปบ้าง แต่ก็ดอดอัดโปรโมชั่นดึงลูกค้ารายใหม่เป็นคลื่นใต้น้ำ ด้วยแคมเปญสมัครบัตรเครดิต ธนาคารกรุงเทพ วันนี้-30 มี.ค. โดยสมาชิกยอดใช้จ่ายผ่านบัตรในรอบบัญชีแรกตามเงื่อนไข รับคะแนนสะสมพิเศษสูงสุดถึง 40,000 คะแนน สามารถใช้แลกของกำนัลกว่า 120 รายการ ด้วยส่วนลดสูงสุดถึง 60% เช่น ไอโฟน 5 เอส ไอโฟน 5 ซี ไอแพดแอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องประดับ หรือใช้เป็นส่วนลดสำหรับร้านอาหาร และห้างสรรพสินค้าชั้นนำที่ร่วมรายการ ขณะที่แบงก์สัญชาติญี่ปุ่นอย่าง “กรุงศรีอยุธยา” ได้จับมือกับพันธมิตรทำตลาดมากกว่ากลุ่มบุคคลทั่วไป โดยล่าสุดอัดแคมเปญ “บัตรเครดิตเทสโก้ โลตัส วีซ่า ยิ่งช้อป…ยิ่งได้แต้ม 4 เท่า” สำหรับสมาชิกบัตรที่ใช้จ่ายในหมวดชอปปิงที่ร้านค้าที่กำหนดตั้งแต่วันนี้ถึง  28 ก.พ. และมียอดสะสมครบทุก 5,000 บาทต่อเดือน จะได้รับคะแนนสะสม 4 เท่า พิเศษสำหรับผู้ที่มียอดใช้จ่ายสูงสุด 10 คนแรกของเดือน รับกระเป๋าเดินทางสไตล์วินเทจมูลค่า 2,950 บาทฟรี ส่วนลูกค้าที่นิยมรับประทานอาหารนอกบ้านก็มีโปรโมชั่นพิเศษ โดยจับมือกับ โออิชิ กรุ๊ป ร่วมกันจัดแคมเปญ “ฟาย มี ทู   เจแปน # 2 โชค 2 ชั้น มันส์ถึงญี่ปุ่น” เริ่มตั้งแต่วันนี้ถึง 31 มี.ค.นี้ นอกจากการจัดโปรโมชั่นต่าง ๆ แล้ว การรุกช่องทางการใช้จ่ายออนไลน์ ยังเป็นช่องทางหนึ่งที่หลายค่ายให้ความสนใจ เพื่อสนองความต้องการของลูกค้าที่นิยมซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น เช่น เกมบางเกมที่ผู้บริโภคต้องอัพเกรดเกมผ่านสมาร์ทโฟน รวมถึงการจัดรายการส่งเสริมการขายในผลิตภัณฑ์เงินออมและการลงทุน ส่วนการทำธุรกรรมผ่านบัตรเครดิตอาจเพิ่มความหลากหลาย เช่น  การชำระค่าธรรมเนียม  และชำระภาษีประเภทต่าง ๆ ผ่านบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการบางค่ายจะขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทย ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และลูกค้าในต่างจังหวัดมากขึ้น  แม้แต่ละค่ายแต่ละแบงก์ ได้ทุ่มสรรพกำลังกระชากตลาด     กันอย่างเต็มที่ แต่สิ่งที่เห็นได้อย่างหนึ่ง คือ อาการเสียวสันหลังกับความเสี่ยงที่จะเกิดหนี้เสียที่มีเป็นเงาตามตัวเช่นกัน! เห็นได้จากการที่ผู้ประกอบการบัตรเครดิต มีแนวโน้มออกแคมเปญที่ส่งเสริมวินัยการชำระหนี้คืนมากขึ้น เช่น การให้คะแนนสะสมพิเศษกรณีชำระเงินเต็มวงเงิน หรือชำระหนี้ก่อนกำหนด  รวมถึงการวางมาตรการเพื่อดูแลหนี้เสียไม่ให้เพิ่มขึ้น เพราะ….การที่แนวโน้มของหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นท่ามกลางภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น ตลอดจนความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องระมัดระวัง แม้ว่าตัวเลขหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทย จะยังอยู่ต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้วที่อยู่สูงถึง 85% และหนี้เสียของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย เฉลี่ยยังอยู่แค่ 2-3% แต่สถาบันการเงินไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะถ้ามัวแต่เร่งโหมสินเชื่อให้เข้าเป้า กระตุ้นการใช้จ่ายโดยไม่ดูศักยภาพลูกหนี้ หากเศรษฐกิจเกิดสะดุดก้าวใหญ่ ๆ ขึ้นมา วิกฤติหนี้บัตรพลาสติกอาจจะปลิวกลับมาเชือดเฉือนฐานะสถาบันการเงิน และระบบเศรษฐกิจโดยรวมก็เป็นได้… สุกัญญา สังฆธรรม

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : พิษเศรษฐกิจฉุดยอดรูดปื๊ดแบงก์อัดโปรโมชั่นกระตุ้น

Posts related