รายงานข่าวจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(มจธ.)แจ้งว่าร.ศ.ดร.อรพินเกิดชูชื่น อาจารย์คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยีประสบความสำเร็จ คิดค้นผลิตภัณฑ์ฟิล์มเคลือบและคงความสดให้แก่ผลไม้พร้อมรับประทานสดทำด้วยแป้งมันสำปะหลังและแป้งข้าวเจ้าซึ่งช่วยลดการใช้สารเคมีและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งยังสามารถบริโภคได้ รศ.ดร.อรพินกล่าวว่าการพัฒนาต่อยอดมาเป็นลำดับจากฟิล์มแป้งที่ทำแล้วมีปัญหาขึ้นรูปยากความชื้นไม่คงที่ ใช้มือจับนานจะละลายก็ปรับด้วยการเติมไคโตซานสารธรรมชาติที่มีในสัตว์กระดองแข็งและขาเป็นปล้องเช่น เปลือกกุ้ง กั้ง และกระดองปูทำให้ฟิล์มแป้งยืดหยุ่นดีขึ้นรูปง่าย เชื้อจุลินทรีย์ไม่สามารถเจริญได้เหมาะสำหรับการห่อหุ้มผักผลไม้สดอย่างมากแต่ก็พบปัญหาคือไคโตซานราคาแพงมากทำให้ต้นทุนการผลิตฟิล์มแป้งสูงไปด้วย ข่าวแจ้งวาเมื่อนำฟิล์มแป้งไปทดลองใช้กับข้าวอินทรีย์พบว่ามีมอดขึ้น รศ.ดร.ณัฏฐาเลาหกุลจิตต์ นักวิจัยอีกรายได้นำน้ำมันหอมระเหยสกัดจากกระเทียมซึ่งป้องกันและควบคุมด้วงงวงข้าวโพดหรือมอดได้ดีแต่มีกลิ่น จึงเปลี่ยนไปใช้ใบชะพลูซึ่งต้องพัฒนาเครื่องมืออีกชนิดเพื่อสกัดและกลั่นได้ด้วยวิธีธรรมชาติจนได้น้ำมันหอมระเหยที่ต้นทุนการผลิตไม่สูง รศ.ดร.อรพินกล่าวว่าน้ำมันหอมระเหยที่สกัดได้ยังนำไปประยุกต์เป็นกระดาษกันเชื้อราเป็นกระดาษไร้สารเคมีโดยเติมน้ำมันหอมระเหยจากพืช3ชนิดคือมะกรูด มะนาว และส้มโอพบว่าการพ่นน้ำมันหอมระเหยลงบนกระดาษควบคุมเชื้อรา7ชนิดที่เจริญบนกระดาษได้ดีที่สุดและจึงมีโครงการต่อยอดด้วยการพ่นน้ำมันหอมระเหยบนวอเปเปอร์ในลักษณะอโรมาเทอราพีป้องกันเชื้อราและมีประโยชน์ต่อผู้ใช้ทั้งยังนำมาพ่นซ้ำได้ขณะนี้น้ำมันหอมดังกล่าวได้จดสิทธิบัตรแล้วภายใต้ชื่อ“สารเติมกลิ่น”

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : มจธ.เปิดงานวิจัยฟิล์มแป้งกินได้ – กระดาษกันราน้ำมันหอมระเหย

Posts related