นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ได้ยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือ (เครดิต) ของของพันธบัตรรัฐบาลของประเทศไทยที่ระดับ บีเอเอ 1 พร้อมยืนยันแนวโน้มเครดิตของไทยที่ระดับมีเสถียรภาพ เนื่องจากไทยไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แม้ว่าการเผชิญหน้าทางการเมืองยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการยืนยันแนวโน้มความน่าเชื่อถือที่ระดับมีเสถียรภาพ สะท้อนถึงการรัฐประหารที่เพิ่งเกิดขึ้นและความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยืดเยื้อยาวนานจะไม่บั่นทอนความแข็งแกร่งด้านเครดิตของไทยอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 12 – 18 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ ปัจจัยหลักในการยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ บีเอเอ 1 ได้แก่ ความสามารถในการบริหารการคลังของรัฐบาลอย่างไม่บกพร่อง  โครงสร้างสถาบันที่เข้มแข็งและไม่ได้รับผลกระทบจากรัฐประหาร  ความแข็งแกร่งของภาคต่างประเทศที่ยังคงดำรงอยู่ รวมถึง การยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรไม่ด้อยสิทธิและไม่มีหลักประกันของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ระดับ บีเอเอ 1 ด้วย  นอกจากนี้ ในส่วนของเพดานเครดิตของไทยก็ ยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยเพดานเครดิตหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศอยู่ที่ระดับ เอ 2 หรือ พี -1 ขณะที่เพดานเครดิตของเงินฝากธนาคารสกุลเงินตราต่างประเทศอยู่ที่ บีเอเอ 1  หรือ พี-2 เพดานความเสี่ยงของประเทศสำหรับภาระผูกพันที่เป็นสกุลเงินบาทยังคงไม่เปลี่ยนแปลงที่ระดับ เอ 1  ซึ่งเพดานเครดิตดังกล่าวเป็นการจำกัดอันดับความน่าเชื่อถือที่มูดีส์ จะให้แก่ข้อผูกพันสกุลเงินตราต่างประเทศและสกุลเงินบาทของผู้ที่มีถิ่นฐานอยู่ในไทย “ความแข็งแกร่งพื้นฐานด้านเครดิตของไทยยังไม่ได้รับผลกระทบมากนักและยังแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรองรับวงจรความกดดันต่อเศรษฐกิจและความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองที่เกิดขึ้นซ้ำๆ โดยปัจจัยหลักในการยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือ มาจากความสามารถในการบริหารการคลังของรัฐบาลอย่างไม่บกพร่อง แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการบริหารจัดการหนี้ของรัฐบาลอย่างรอบคอบตลอดช่วงเวลาที่ความวุ่นวายทางการเมืองยังไม่เปลี่ยนแปลง แม้แต่หลังจากรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา สะท้อนจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่ดัชนีช่วง 2 วัน ตั้งแต่วันที่ 2-3 มิ.ย.ที่ผ่านมา ดัชนีปรับตัวดีขึ้นกว่า 40 จุด เพราะนักลงทุนเกิดความเชื่อมั่น” อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่อาจส่งผลให้มีการปรับแนวโน้มต่อเครดิตเป็นลบหรือปรับลดเครดิต ได้แก่ ความขัดแย้งที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างทหารและกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งส่งผลกระทบระยะยาวต่อภาคการท่องเที่ยวและภาคการผลิตอย่างมีนัยสำคัญ, การเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของต้นทุนในการระดมทุนของรัฐบาลที่เป็นผลจากความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศหรือการขาดวินัยทางการคลัง และการถดถอยลงอย่างรุนแรงของดุลการชำระเงินและการลดลงอย่างมีนัยสำคัญของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของรัฐบาล

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : มูดีส์คงเครดิตไทย

Posts related