การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 58 ส่งผลให้หลายภาคส่วน โดยเฉพาะแวดวงธุรกิจต้องเร่งปรับตัว แม้กระทั่งแวดวงการศึกษาก็หลีกหนีเรื่องนี้ไม่พ้น และเมื่อพูดถึงสถาบันการศึกษาในไทยที่มีส่วนผลักดันแวดวงธุรกิจแล้ว หลายคนก็คงจะนึกถึงมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยที่มีความโดดเด่นด้านธุรกิจ เนื่องจากมีรากฐานและความเชื่อมโยงกับหอการค้าไทยที่มีอยู่ทั่วทั้งในและต่างประเทศ และมีจุดมุ่งหมายอย่างชัดเจนคือ การสร้างบุคลากรด้านการพาณิชย์ที่มีศักยภาพ เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต รวมไปถึงความคาดหวังที่จะเป็น “ศูนย์กลางการเรียนรู้ในอาเซียน” เรื่องนี้ “ดร.จักรินทร์ ศรีมูล” คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าอาเซียนและลาตินอเมริกา (ซี-แลค) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกผ่านในรายการเศรษฐกิจติดจอ ทางเดลินิวส์ทีวี เมื่อวันที่ 22 พ.ย. ที่ผ่านมาว่า การศึกษาถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจในประเทศ เราจะเห็นได้จากประเทศไหนที่เจริญมาก ๆ มักมาจากระบบการศึกษาที่มีความเข้มแข็ง และนี่ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ทางมหาวิทยาลัยต้องการสร้างความเแข็งแกร่งทั้งในและต่างประเทศ โดยการประเดิมเปิดมหาวิทยาลัยหอการค้าต่างประเทศแห่งแรกที่ “ประเทศพม่า เมืองย่างกุ้ง” โดยมีนักศึกษารุ่นแรกที่เข้ามาเรียนทั้งสิ้น 50 คน สำหรับสาเหตุที่เลือกพม่า เพราะมหาวิทยาลัยมีความคิดว่าอยากทำในสิ่งที่คนอื่นเขาไม่ทำ เราเป็นมหาวิทยาลัยที่สอนคนทำธุรกิจ แต่เราก็ต้องทำธุรกิจควบคู่ไปด้วย นั่นหมายถึงว่าเราพร้อมที่จะประสบความสำเร็จและล้มเหลวในเวลาเดียวกัน โดยจุดกำเนิดเกิดขึ้นเมื่อปี 2554 สมัยนั้นพม่ายังไม่ได้มีการเปิดประเทศ ช่วงแรกเราลังเลว่าจะไปดีหรือไม่ แต่เมื่อเข้าไปแล้วมันก็ต้องลุยอย่างเต็มที่ ซึ่งมหาวิทยาลัยได้ร่วมมือกับหอการค้าของพม่าในการปรับปรุงหลักสูตรและพัฒนาการเรียนการสอนหลักสูตรบริหารธุรกิจ (เอ็มบีเอ) ซึ่งหอการค้าพม่ามีเป้าหมายเดียวกับมหาวิทยาลัยหอการค้าคือ ต้องการพัฒนาระบบการศึกษา อุตสาหกรรมที่โน่นก็ต้องการเปิดมหาวิทยาลัยท้องถิ่นในอนาคต พม่าจึงต้องการการเรียนรู้ว่าหอการค้าทำได้อย่างไร “เค้าก็อยากเรียนรู้จากเรา ก็ถือเป็นการแบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกัน หลังจากที่เปิดได้รับการยอมรับว่าเป็นโปรแกรมเอ็มบีเอที่ดีที่สุดที่พม่า โดยดูจากนักศึกษาที่เข้ามาเรียน โดยมาจากเพื่อนบอกเพื่อน ปากต่อปาก และที่สำคัญมีเด็กนักศึกษาคนหนึ่งที่เราได้สัมภาษณ์ว่าใครแนะนำให้มาเรียนที่นี่ ปรากฏว่านักศึกษาตอบว่าพ่อของเขา พอถามว่าพ่อเขาเป็นใคร เขาบอกว่าเป็นรัฐมนตรีท่านหนึ่งของพม่า เพราะฉะนั้นเราถือว่าชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยไปถึงทุกกลุ่ม ทั้งระดับบน กลาง และล่าง” ในส่วนของวิธีการเรียนการสอน ไม่มีความแตกต่างจากที่ไทย แต่ในส่วนบุคลากรหรือคณาจารย์ที่สอนนั้นมีความจำเป็นต้องคัดเลือกอย่างเข้มข้น เพราะเราต้องการสร้างชื่อเสียงที่ดี และให้บุคลากรพม่าเห็นว่าเรามีความตั้งใจจริง ๆ ที่จะบริหาร และช่วยสนับสนุนด้านการศึกษา ดังนั้นบุคลากรที่จะไปนั้นไม่ใช่เข้าใจไทยอย่างเดียวแต่จะต้องเข้าใจพม่าด้วย เข้าใจนิสัยใจคอของพม่าด้วย เข้าใจวัฒนธรรม อุปนิสัยต่าง ๆ ต้องเตรียมความพร้อม เป็นต้น หลังจากประสบความสำเร็จจากย่างกุ้งจนปัจจุบันมีนักศึกษารวมทั้งสิ้น 3 รุ่น รุ่นละ 50 คน รวมมีนักศึกษาทั้งสิ้น 150 คน ส่งผลให้มหาวิทยาลัยเล็งเห็นถึงศักยภาพของพม่าที่จะขยายสถาบันการศึกษาได้ต่อ จึงทำการเปิดมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยในพม่าแห่งที่ 2 ที่ “มัณฑะเลย์” ซึ่งเริ่มเปิดการเรียนการสอนเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีนักศึกษารุ่นแรกรวมทั้งสิ้น 30 คน ซึ่งน้อยกว่าย่างกุ้ง เนื่องจากความเจริญทางเศรษฐกิจที่มีความแตกต่างกัน โดยมัณฑะเลย์จะเดินตามหลังย่างกุ้งประมาณ 4-5 ปี เพราะฉะนั้นเอ็มบีเอจะถือว่าใหม่มากสำหรับเมืองนี้ ดังนั้นนักศึกษาจำนวน 30 คน ถือว่ากำลังพอดี และเชื่อว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแน่นอน ส่วนวิธีการคัดเลือกนักศึกษานั้น เราจะมีวิธีสอบข้อเขียน และสัมภาษณ์ เราไม่ได้รับทั้งหมด เพราะเราต้องการบุคคลที่มีความตั้งใจและมีความพร้อมจริง ๆ หลักสูตรของเรา มีหลักสูตรการบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ การตลาด การเงิน การธนาคาร หรือหลักสูตรอะไรที่มีความจำเป็นและเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ เป็นเหมือนการบ่มเพาะก่อนที่จะมีการลุยทำธุรกิจด้วยตัวเอง ในเรื่องของอัตราค่าเรียน เก็บแพงกว่าเมืองไทยนิดหน่อย เนื่องจากค่าใช้จ่ายสูงกว่า โดยอยู่ที่ประมาณ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 300,000 บาท คำนวณจากค่าเงินบาทที่ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในส่วนของปัจจัยที่ทำให้หอการค้าได้รับผลตอบรับที่ดี อันดับแรกคือ ความร่วมมือที่มีแต่แรกระหว่างสภาหอการค้าไทยกับพม่า การมีพื้นฐานที่ดีร่วมกัน สองคือผู้บริหารของมหาวิทยาลัยที่มีความตั้งใจให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ และเหมือนเราไปคลุกคลี มีความตั้งใจไปอยู่กับเขาจริง ๆ ไม่ใช่การเรียนผ่านหน้าจอ อันนั้นเหมือนเราไปทิ้งเขา แต่นี่เราบินไปทุกอาทิตย์ มีการทำกิจกรรมร่วมกันตลอด เราเป็นส่วนหนึ่งของเขาจริง ๆ ซึ่งสะท้อนถึงความจริงใจที่เรามีให้กัน สำหรับพม่าเราคิดว่าเป็นดาวรุ่ง ซึ่งขณะนี้เรากำลังศึกษาในส่วนของทำเลในการขยายสาขาต่อ ซึ่งต้องดูว่ามหาวิทยาลัยมีความพร้อมหรือไม่ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเปิดเพิ่มที่ “เมวะดี” และประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย และเวียดนาม นอกจากนี้อาจารย์ยังได้ทิ้งท้ายไว้ว่า ปัจจุบันสถาบันการศึกษาอื่นมีความตื่นตัวกันค่อนข้างมาก ถ้าถามว่าเป็นการแข่งขันหรือไม่ มันอยู่ที่เราจะเลือกมอง แต่มันมีข้อดีคือ การเข้าไปเยอะมันทำให้เกิดการพัฒนาขึ้น แต่ธุรกิจไหนที่ไม่มีคู่แข่งมันจะไม่ค่อยเติบโตหรือไม่ค่อยเจริญ มันจะนิ่ง ๆ เราแข่งในการสร้างความเจริญไปข้างหน้า หรือการสร้างความเจริญให้กับอาเซียน สุดท้ายคนที่รับคือนักศึกษาเองที่จะได้รับสิ่งที่ดีไป สำหรับนักศึกษาท่านใดที่สนใจศึกษาต่อที่พม่า สามารถติดต่อได้ที่ 0-2697-6139 หรือที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย. ภัทราภรณ์ พลายเถื่อน

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ม.หอการค้า สยายปีกพม่ารับเออีซี – เออีซี กับ ม.หอการค้าไทย

Posts related