นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา ปฏิบัติหน้าที่รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแถลงว่า ที่ประชุมครม.รักษาการณ์รับทราบผลสำมะโนการเกษตรประจำปี 56ตามที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เสนอ โดยพบว่าล่าสุดในปี 56มีประชาชนถือครองพื้นที่ทำการเกษตรทั้งสิ้น 5.9 ล้านรายหรือ 25.9 % ของครัวเรือนทั้งประเทศมีเนื้อที่ถือครองทำการเกษตรทั้งสิ้น 114.6 ล้านไร่ หรือครอบครองเฉลี่ยคนละ 19.4 ไร่เพิ่มขึ้นจาก 10 ปีก่อน 1.7% นอกจากนี้ยังพบว่าพื้นที่ที่ถือครองนั้นมีมากถึง 51.3% เป็นพื้นที่ปลูกข้าวรองลงมาคือพืชไร่ 22.3% อันดับสามคือยางพารา 14.6%  แต่ปรากฎว่าจำนวนเกษตรกรที่ปลูกข้าวนั้นกลับลดลงในช่วง10 ปีที่ผ่านมาจากเดิมที่เคยปลูก 4ล้านรายเหลือเพียง 3.8 ล้านราย ขณะที่พื้นที่ปลูกข้าวเพิ่มจาก 68.4 ล้านไร่ เป็น 72.8 ล้านไร่โดยที่นาปรังเพิ่มขึ้นมากที่สุด ขณะที่ผู้ปลูกยางพาราเพิ่มขึ้นจาก 6.1 แสนรายเป็น 1.16ล้านรายและพื้นที่เพาะปลูกยางพาราเพิ่มจาก 9.6 ล้านไร่เป็น 16.3 ล้านไร่ ครึ่งหนึ่งอยู่ในภาคใต้และพบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่ปลูกยางพาราเพิ่มมากขึ้นเกือบ7เท่า คือจาก 2 แสนไร่เป็น 4.3 ล้านไร่ทีเดียว ทั้งนี้ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีจำนวนผู้ถือครองและเนื้อที่ถือครองเพื่อทำการเกษตรมากที่สุดคือ2.8 ล้านราย ถือครองพื้นที่ 53.5 ล้านไร่ขณะที่ภาคกลางมีจำนวนผู้ถือครองและเนื้อที่ถือครองน้อยที่สุด โดยมีเพียง 8 แสนราย ซึ่งมีเนื้อที่ถือครองเพียง 19.2 ล้านไร่เท่านั้น ส่วนจังหวัดที่มีจำนวนผู้ถือครองทำการเกษตรมากที่สุดคือจังหวัดนคราราชสีมา ถือครอง 2.6แสนรายรองลงมาคืออุบลราชธานี 2.29 แสนราย และศรีสะเกษ 2.03 แสนรายซึ่งทั้ง 3 จังหวัดมีผู้ถือครองทำการเกษตรเกิน 2 แสนราย นอกจากนี้ จากการสำมะโนยังพบว่าผู้ถือครองที่ดินส่วนใหญ่มีรายได้จากผลผลิตทางการเกษตรเกิน1แสนบาทขึ้นไปมากที่สุดถึง 28.6% เพิ่มขึ้นจาก 10 ปีก่อน 18.9%และในจำนวนนี้เกือบครึ่งหนึ่ง เป็นครัวเรือนที่มีหนี้สิน และพบว่าเป็นหนี้สินทางการเกษตร36.9%  หรือเฉลี่ยครัวเรือนละ124,604 บาทและส่วนใหญ่กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) 70.9%

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ยางพาราหายใจรดต้นคอข้าว

Posts related