นายวิทยา เปรมจิตร์ นายกสมาคมพัฒนารถร่วมบริการเอกชน (รถร่วม ขสมก.) เปิดเผยว่า รถร่วมขสมก.ประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก หลังรัฐบาลไม่ได้ให้ปรับขึ้นค่าโดยสารมา 10 ปี ทั้งที่ขณะนี้ต้นทุนค่าแรงงานเพิ่มเป็นวันละ300 บาทแล้วเบื้องต้นต้องการให้กระทรวงคมนาคมช่วยเหลือจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ย ต่ำ 500 ล้านบาท ให้ผู้ประกอบการนำมาเสริมสภาพคล่อง ซ่อมแซมรถให้บริการต่อได้ รวมทั้งเสนอขอขึ้นค่าโดยสารในเขตกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย รถสองแถว ขอปรับจากคนละ 7 บาท เป็น 10 บาท รถโดยสารธรรมดา ปรับจาก 8 บาท เป็น 10 บาท และรถโดยสารปรับอากาศ ปรับจากค่าโดยสารตามระยะทาง 12-24 บาท เป็น 14-26 บาท“ขณะนี้ค่าโดยสารที่เก็บเป็นราคาที่ต่ำกว่าทุน เช่น รถร้อนต้นทุนอยู่ที่ 9.60 บาท แต่เก็บค่าโดยสารเพียง 8 บาท ซึ่งถูกที่สุดในโลก ทำให้ผู้ประกอบการรถร่วม 30% จากทั้งหมด 3,800 คัน ต้องหยุดวิ่งไปแล้ว เพราะทนภาระขาดทุนไม่ไหว หากสิ้นปีนี้ไม่ได้รับอนุมัติให้รถร่วมขสมก.ปรับขึ้นราคา รถร่วมคงจำเป็นต้องหยุดวิ่งในบางเส้นทาง”นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวหลังพบตัวแทนสมาคมพัฒนารถร่วมบริการเอกชนและชมรมผู้ประกอบการรถโดยสาร ประจำทางหมวด 4 เอกชนแห่งประเทศไทยว่า ภาคเอกชนได้ยื่นหนังสือขอให้กระทรวงคมนาคม พิจารณาขึ้นค่าโดยสารรถสองแถวและ รถร่วมเอกชน 2-3 บาท เพื่อลดภาระขาดทุนสะสม หลังจากที่ผ่านมา ถูกรัฐบาลตรึงค่าโดยสารมาตั้งแต่ปี 55 ประกอบกับราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงถูกผลกระทบจากนโยบายจัดระเบียบรถจักรยานยนต์รับจ้าง ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ทำให้จำนวนรถฯ เข้าสู่ระบบมากขึ้น“เรายังตอบไม่ได้ว่าจะให้ปรับราคาหรือไม่ จะไปหารือกับกรมการขนส่งทางบก เพื่อศึกษาข้อเท็จจริงก่อน แต่ยอมรับว่าต้นทุนผู้ประกอบการสูงขึ้น เช่น ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวนรถตู้ และรถมอเตอร์ไซค์ ที่วิ่งให้บริการเมื่อได้ข้อสรุปจะนำเสนอให้ รมว.คมนาคมพิจารณาอีกครั้ง”ส่วนกรณีผู้ประกอบการเกรงว่าการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 3,183คัน ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จะเข้ามาซ้ำเติมการแข่งขันกับรถเอกชนนั้น ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการนำเข้ารถเมล์มาเพิ่ม เพราะเป็นการนำรถใหม่เข้ามาทดแทนรถเก่า ที่จะปลดระวาง ซึ่งไม่ได้ทำให้จำนวนรถเมล์เพิ่มขึ้นตามที่กังวล

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : รถร่วมทวงขอขึ้นค่าโดยสาร

Posts related