โฟม…เป็นผลิตภัณฑ์จากพลาสติกที่ใช้สารเร่ง หรือยาพอง ทำให้ฟูและพองตัวจากการใช้ความร้อนสูง และอัดลงในแม่พิมพ์ให้ได้รูปตามที่ต้องการ  ซึ่งโฟมมีน้ำหนักเบาและเป็นฉนวนทนความร้อนจึงนิยมนำมาผลิตเป็นภาชนะบรรจุอาหารโดยทั่วไป โดยโฟมที่นำมาบรรจุอาหารผลิตจากวัสดุโพลิเมอร์ชนิดโพลิสไตรีนที่เป็นพลาสติกที่รีไซเคิลได้ แต่มีค่าใช้จ่ายสูง จึงไม่นิยมนำกลับมารีไซเคิล ส่งผลให้ขยะจากพลาสติกชนิดนี้เพิ่มมากจนเป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันมีการใช้โฟมเป็นภาชนะบรรจุอาหารสำเร็จรูป ที่มีความร้อนและไขมัน ซึ่งอาจทำให้สารเคมีจากโฟมออกมาปนเปื้อนกับอาหารได้ โดยเฉพาะอาหารประเภทกึ่งสำเร็จรูปที่ต้องนำเข้าไมโครเวฟ ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ เพราะจะทำให้เกิดปฏิกิริยาปลดปล่อย “สารสไตรีน” ซึ่งจัดเป็นสารก่อมะเร็งในกลุ่ม 2B ปริมาณของสารสไตรีนที่ปล่อยลงสู่อาหารขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย คืออุณหภูมิของอาหารที่บรรจุ ปริมาณไขมันในอาหาร และระยะเวลาที่ีใช้ภาชนะโฟมบรรจุอาหาร โดยคุณสมบัติของสารสไตรีน ถือเป็นสารที่ละลายได้ในน้ำมันและแอลกอฮอล์ หรือแม้แต่อาหารที่มีไขมันสูง และหากทิ้งอาหารให้สัมผัสกับภาชนะโฟมเป็นเวลานานจะยิ่งมีการปลดปล่อยสารสไตรีนออกมาปนเปื้อนอาหารได้มากขึ้น แม้ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าสารสไตรีน ส่งผลเสียต่อสุขภาพมากน้อยอย่างไร แต่การได้รับสารนี้ต่อเนื่องเป็นเวลานานขณะที่การใช้บรรจุอาหารที่ไม่ถูกวิธี อาจส่งผลเสียเป็นอันตรายต่อสุขภาพในอนาคตได้ ทั้งนี้ศูนย์เฝ้าระวังและพิสูจน์สินค้าที่ไม่ปลอดภัย สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค จึงได้ทดสอบพิสูจน์แล้วพบว่า ผู้บริโภคมีโอกาสเสี่ยงได้รับสารเคมีตกค้างจากการละลายของสารเคมีที่มีส่วนประกอบของโฟมแต่ละชนิดที่บรรจุอาหารปนเปื้อนอาหารโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ส่วนใหญ่แล้วโฟมมีส่วนประกอบสำคัญ 2 ชนิด คือ สไตรีน และเบนซีน ซึ่งสารนี้สามารถแพร่กระจายและละลายปนเปื้อนกับอาหารได้เมื่อได้รับหรือสัมผัสกับอาหารที่มีความร้อนสูง แม้ว่าผลทดสอบที่ได้ส่วนใหญ่ มีค่าปนเปื้อนของตะกั่ว แคดเมียม และสารตกค้างจากสารที่ระเหยอยู่ในเกณฑ์ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข แต่ค่าที่ได้จากผลการทดสอบชี้ให้เห็นว่ามีการปนเปื้อนสารละลายของสารเคมีหลุดออกมา เมื่อทดสอบในสภาวะที่ใช้กับอาหารที่มีความร้อนสูงจริง โดยค่าที่ได้มีค่าสูงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของค่าที่มาตรฐานกำหนดไว้ จึงเป็นสาเหตุทำให้เกิดการสะสมเรื้อรัง และเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายได้หากได้รับสารนี้ทุกวัน ดังนั้นผู้บริโภคจึงควรเลือกใช้โฟมบรรจุอาหารให้ถูกประเภทอาหารที่นำมาบรรจุ หลีกเลี่ยงการนำโฟมมาบรรจุอาหารร้อน ไขมันสูง หรือมีความเป็นกรด และหลีกเลี่ยงการอุ่นอาหารในเตาไมโครเวฟ รวมถึงการหันมาใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น ใบตอง กระดาษ กล่องไบโอ ชานอ้อย แทนกล่องโฟม จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภค.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ระวัง‘ใช้โฟมบรรจุอาหาร’เสี่ยงอันตราย – ไขปัญหาผู้บริโภค

Posts related