คอมพิวเตอร์สวมใส่ได้มีหลายชนิด ตั้งแต่เป็นแว่นตา นาฬิกา เสื้อผ้า รองเท้า บริษัทกูเกิลพยายามทำ Glass เป็นแว่นตา แสดงจอโทรศัพท์ขึ้นให้เห็นในแว่นได้ และมีกล้องถ่ายทอดทุกอย่างที่ผู้สวมใส่มองเห็นอยู่ออกอากาศได้ แต่สังคมยังไม่ยอมรับ และการใช้งานยังมีปัญหากับราคาแพง จึงยังขายไม่ออก ที่เป็นรองเท้าก็เริ่มมีติดมากับรองเท้ากีฬาเพื่อติดตามตำแหน่งที่อยู่ เป็นการบันทึกข้อมูลการออกกำลังกายตลอดเวลา และยังมีคอมพิวเตอร์ที่ฝังตัวอยู่กับเสื้อผ้า  เป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ล่าสุด สามารถบันทึกข้อมูลการเคลื่อนไหวร่างกายของผู้สวมใส่ อยู่ในระหว่างการพัฒนา เลยยังไม่รู้ชัดเจนว่าทำอะไรได้บ้าง ดาราเอกของเราในวันนี้ จึงเป็น นาฬิกาฉลาดครับ  นักประดิษฐ์ทั้งหลายใช้ความพยายามย่อส่วนคอมพิวเตอร์ทุกอย่างลงไปจนสามารถบรรจุลงในนาฬิกาข้อมือได้ โดยที่ยังทำงานเหมือนระบบคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ นั่นคือ สามารถใช้ระบบปฏิบัติการลินุกซ์ได้ ในปี ค.ศ. 2000 อาจารย์ สตีฟ มัน (Steve Man  บิดาแห่งคอมพิวเตอร์สวมใส่ ผมเคยเขียนถึงเขาที่นี่เมื่อหลายเดือนมาแล้ว) ได้ประกาศผลงานนาฬิกาข้อมือลินุกซ์ของเขาในงานประชุมวิชาการนานาชาติ IEEE ISSCC  (Solid-State)  ก่อนหน้านี้ มีการประดิษฐ์นาฬิกาข้อมือที่มีชิปคอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋วมาแล้ว แต่พลังน้อย เลยยังทำอะไรไม่ได้เท่าไร  ในปีเดียวกัน บริษัทไอบีเอ็ม แสดงต้นแบบนาฬิกาข้อมือที่บรรจุคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบลินุกซ์เช่นกัน และได้พยายามพัฒนาให้เป็นสินค้า แต่ไม่สำเร็จ (อาจจะเป็นเพราะจอเล็กจนมองยาก และแบตเตอร่ีอยู่ได้ไม่นาน แถมราคาแพง) ระหว่างปี ค.ศ.2000 ถึงปัจจุบัน มีความพยายามเอาความฉลาดใส่นาฬิกาข้อมือจนนับแทบไม่ถ้วน แต่ไม่มีชิ้นไหนที่มีผลกระทบในวงกว้าง  เดี๋ยวนี้คนพูดถึง Smart Watch กันมาก เพราะเอามาผสาน (สังเกตว่าผมใช้คำว่าผสาน) กับโทรศัพท์มือถือ เกิดเป็นนาฬิกาข้อมูลฉลาดพันธุ์ใหม่ ประกอบกับความพยายามทางด้านการตลาดอย่างจริงจัง จึงมีผลให้สาธารณชนสนใจ นาฬิกาฉลาดปัจจุบันทำอะไรได้บ้าง มีประโยชน์อย่างไร แน่นอนอย่างแรก สามารถบอกเวลา นอกจากนั้นสามารถติดต่อกับโทรศัพท์มือถือ เพื่อแสดงการแจ้งเตือน บนจอนาฬิกา เช่น มีสายเข้า มีข้อความเข้า ถึงเวลานัดหมาย อาจจะรวมไปถึง เช็กอีเมล ดูข้อความจากเฟซบุ๊ก (เนื่องจากจอมีขนาดเล็ก คงจะเหมาะกับวัยรุ่นที่สายตายังดีอยู่ มากกว่าวัยสว.) นาฬิกาฉลาดเป็นจอสัมผัสจึงใช้งานง่ายเหมือนโทรศัพท์มือถือ ดู ๆ แล้วการผสานกับโทรศัพท์มือถือทำให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น เพราะไม่ต้องหยิบโทรศัพท์ออกมา ก็สามารถดูและตอบโต้โดยแตะจอนาฬิกาข้อมือเลย การใช้งานอื่น ๆ ก็มี  เช่น เจาะจงเรื่องการออกกำลังกาย โดยบันทึกตำแหน่ง สถานที่ เวลาและระยะทางของนักวิ่ง ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน แม้กระทั่งวัดอัตราเต้นของหัวใจ ข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์อย่างมากกับผู้ออกกำลังกาย และสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาสมรรถนะของนักกีฬา นาฬิกาฉลาดทำงานเหล่านี้ได้โดยมีเซ็นเซอร์หลายอย่างในตัว เช่น จีพีเอสบอกตำแหน่ง ไจโรสโคป และตัววัดความเร่ง สามารถบอกความเคลื่อนไหว อาจติดเซ็นเซอร์วัดอัตราเต้นหัวใจ โดยรัดไว้รอบอก และติดต่อกับนาฬิกาฉลาดอีกทีหนึ่ง แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ก็มีอยู่ในโทรศัพท์มือถือ แต่นาฬิกาข้อมือติดตัวนักกีฬาสะดวกกว่ามาก (โดยเฉพาะนักว่ายน้ำเช่นผม) แล้วนาฬิกาฉลาดจะมาครองโลก แทนที่โทรศัพท์มือถือได้ไหม มีหลายคนเริ่มเห็นว่า โทรศัพท์มือถือมาถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ยากที่จะมีการพัฒนาอะไรใหม่ ๆ แบบก้าวกระโดด ดังนั้นนาฬิกาฉลาดดูเป็นความหวังที่มีอนาคตสดใส ถ้าปัจจุบันทำงานแบบผสานกับโทรศัพท์ คือ ต้องใช้คู่กันแต่ต่อไป “บินเดี่ยว” ก็เป็นไปได้อย่างยิ่ง  ทำไมยังไม่ซื้อมาใช้สักเรือนล่ะ ผมตื่นเต้นมากตั้งแต่ปีค.ศ.2000 ที่เห็นต้นแบบนาฬิกาลินุกซ์ของไอบีเอ็ม และเป็นแรงบันดาลใจให้ผมทำวิจัยอยู่ในสายนี้ แต่ผมใส่นาฬิกาเพื่อเหตุผลสองข้อ 1) ดูเวลา เพื่อควบคุมเวลาในห้องบรรยายและเพื่อปรับจังหวะของการบรรยายให้เหมาะสมกับเวลาที่เหลือ 2) เป็นแฟชั่น เป็นเครื่องประดับชิ้นหนึ่ง  ปัจจุบัน นาฬิกาฉลาดยังไม่ลงตัวว่าควรใช้ทำอะไรได้บ้าง เมื่อบริษัทผลิตออกมา มีผู้บริโภคใช้งานอยู่เป็นระยะเวลาหนึ่ง ผลิตภัณฑ์ก็จะถูกปรับปรุงไปตามความต้องการของผู้ใช้ ยังไม่มีใครบอกได้ตอนนี้ อีกสองสามปีก็จะเห็น แต่จุดอ่อนที่สุดเห็นจะเป็นมุมมองของเครื่องประดับ ซึ่งโดยธรรมชาติต้องมีหลายหลาก ทั้งเรื่องรูปร่าง วัสดุ สีสัน สัมผัส นาฬิกาฉลาดในปัจจุบันยังเทียบรุ่นไม่ได้กับนาฬิกาข้อมือแฟชั่นที่มีวางขายเป็นพัน ๆ รูปแบบในท้องตลาด  ผมควรจะฝันถึง iWatch ที่มีข่าวว่า บริษัทแอปเปิล จะเปิดตัวในวันที่  9 กันยายนนี้ หรือมองหา G-SHOCK ในฝันที่ลูกสาวคนเล็กบอกว่า “เหมือนที่เพื่อนหนูใส่เลย” อีกสักเรือนหนึ่งดี?. ประภาส จงสถิตย์วัฒนา ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ฤา Smart Watch จะครองโลก? – 1001

Posts related