นายวิชัย จิราธิยุต ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ เปิดเผยภายหลังการสัมมานา โอโต้โมทีป ซัมมิท 2014 ว่า สถาบันฯ ต้องการให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ( บีโอไอ ) พิจารณาดำเนินโครงการรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล ระยะที่ 2 (อีโคคาร์ เฟส 2) ให้เกิดขึ้นภายในปีนี้ โดยคาดว่า ภายใน 2 -3 เดือนนี้ บอร์ดบีโอไอ จะอนุมัติโครงการอีโคคาร์ เฟส 2 ซึ่งจะช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย จากที่ผ่านมาอยู่ในภาวะชะลอตัว และเพื่อผลักดันให้ไทยเป็นผู้นำด้านยานยนต์ในอาเซียน  ทั้งนี้ได้คาดการณ์ว่า การผลิตรถยนต์ในปี 57 จะปรับตัวลดลงประมาณ 5-10% จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ในปีนี้ 2.45 ล้านคัน เนื่องจากต้นปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการชะลอการผลิต เพราะกังวลปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และปัญหาความไม่สงบทางการเมือง รวมทั้งหมดโครงการรถยนต์คันแรกแล้ว แต่ช่วงครึ่งปีหลัง เชื่อว่า ปริมาณการผลิตรถยนต์จะกลับฟื้นตัวดีขึ้น หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้ามาบริหารประเทศ ทำให้ปัญหาทุกอย่างคลี่คลาย โดยตั้งเป้าหมายระยะยาวในอีก 5 ปีข้างหน้าหรือปี 60 จะต้องผลิตรถยนต์ได้ถึง 3 ล้านคัน  นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการบีโอไอ กล่าวว่า การพิจารณาใช้สิทธิประโยชน์บีโอไอใหม่ จะสามารถใช้ตามกำหนดเดิม 1 ม.ค. 58 ได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของบอร์ดบีโอไอชุดใหม่ เชื่อว่า จะมีการนำสิทธิผลประโยชน์เดิมมาปรับหลักเกณฑ์ใหม่ ซึ่งตามหลักการสิทธิประโยชน์ใหม่ของบีโอไอ จะต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 และต้องเป็นกิจการที่สร้างมูลค่าเพิ่มเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ บอร์ดบีโอไอชุดใหม่ จะทบทวนสิทธิประโยชน์ใหม่ ซึ่งการปรับลดสิทธิประโยชน์บางโครงการ เช่น กิจการที่ใช้แรงงานเข้มข้น ซึ่งพิจารณาไว้แล้วในสมัยรัฐบาลชุดที่ผ่านมา แต่แต่งตั้งบอร์ดบีโอไอชุดใหม่จึงเป็นอำนาจของบอร์ดจะพิจารณารายละเอียดก่อนประกาศใช้ สำหรับความคืบหน้าการอนุมัติโครงการอีโคคาร์ เฟส 2 ขณะนี้คณะทำงานที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานได้เร่งพิจารณา คาดว่าจะมีการเสนอเข้าสู่คณะอนุกรรมการฝ่ายนโยบายที่มี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง เป็นประธาน และจะเสนอเข้าสู่บอร์ดบีโอไอในช่วง 2-3 เดือนนี้เช่นกัน ซึ่งโครงการนี้มีผลทำให้กำลังการผลิตรถยนต์จะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านคัน มีมูลค่าลงทุน 1.38 แสนล้านบาท คาดว่า อีโคคาร์ 2 จะเริ่มผลิตเพื่อรองรับการประกาศใช้โครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ได้ในปี 59 “ที่ผ่านมานักลงทุนให้ความสนใจกับกำหนดเวลาบังคับใช้สิทธิประโยชน์ใหม่ เพราะต้องมีเวลาเตรียมตัว โดยที่ผ่านมานักลงทุนได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับเรื่องสิทธิประโยชน์ที่ลดลงในบางโครงการ ทำให้บีโอไอต้องชี้แจงว่าควรพิจารณาร่วมกับภาษีนิติบุคคลที่ปรับลดลง เหลือ 20% จากเดิม 30% เพราะเป็นภาษีที่เกิดประโยชน์ตลอดการลงทุนในประเทศไทย และหากเทียบในภูมิภาคอาเซียน ภาษีของไทยน้อยกว่าสิงคโปร์เท่านั้น ซึ่งสิงคโปร์อยู่ที่ 17% มีเพียงกัมพูชาที่เท่ากับไทยเท่านั้น ส่วนที่เหลือมากกว่าไทยทั้งหมด”

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ลุ้นบีโอไอเคาะอีโคคาร์เฟส2

Posts related