นายวรเดช หาญประเสริฐ อธิบดีกรมการบินพลเรือน เปิดเผยว่า หลังเกิดเหตุกระเป๋าสัมภาระของผู้โดยสารเกิดประกายไฟลุกไหม้ที่สายพานลำเลียงกระเป๋าที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมินั้น กรมฯได้ส่งเจ้าหน้าที่พื้นที่ สำรวจเรื่องการประกาศสิ่งของต้องห้ามในการขึ้นเครื่องบิน และขอความร่วมมือให้ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. จัดทำป้ายหรือเอกสารเผยแพร่เพิ่มเติม เพื่อระบุวัตถุต้องห้ามนำขึ้นเครื่องบิน พร้อมแจ้งให้ผู้โดยสาร นักท่องเที่ยวได้รับทราบอย่างชัดเจน ทั้งนี้ในกฎกระทรวงได้กำหนดวัตถุอันตรายและสัตว์ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของอากาศยานหรือบุคคลในอากาศยาน พ.ศ.2550 กำหนดสิ่งต้องห้ามไว้ 10 รายการ คือ วัตถุระเบิด, ก๊าซ, ของเหลวไวไฟ, ของแข็งไวไฟ, สารออกซิไดส์และออร์แกนิคเปอร์ออกไซด์, สารพิษและสารติดเชื้อ, วัสดุกัมมันตรังสี, สารกัดกร่อน, อาวุธหรือสิ่งเทียมอาวุธซึ่งมีรูปร่างและลักษณะอันน่าจะทำให้หลงเชื่อว่าเป็นอาวุธ และวัตถุหรือสารซึ่งในระหว่างการขนส่งทางอากาศอาจเป็นอันตรายต่อความปลอดภัย “ปกติเรื่องสินค้าหรือวัตถุอันตรายนั้นมีการกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติเดินอากาศไทย มาตรา 26 ในการห้ามมิให้ผู้ใดส่งหรือพาวัตถุอันตรายหรือสัตว์ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของอากาศยานหรือบุคคลในอากาศยานตามที่กำหนดในกฎกระทรวงไปกับ อากาศยาน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่และปฏิบัติตามเงื่อนไขที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด” ส่วนความคืบหน้าทางคดี ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ระหว่างนำสารเคมีที่บรรจุอยู่ในกระเป๋าใบที่เกิดเหตุไปตรวจพิสูจน์ หากพบวัตถุภายในกระเป๋าเข้าข่ายเป็นวัตถุอันตราย 10 ชนิดที่ต้องห้ามนำขึ้นเครื่อง ตามกฎกระทรวงมาตรา 26 ตามพ.ร.บ.การเดินอากาศพ.ศ. 2497  เจ้าของกระเป๋าอาจมีความผิดในข้อหาฝ่าฝืนกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 8 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตามในทางกลับกันหากพิจารณาแล้วเห็นว่าวัตถุที่บรรจุในกระเป๋าดังกล่าวไม่ใช่วัตถุต้องห้ามนำขึ้นเครื่องตามกฎหมาย  บพ. อาจจะต้องมีการประชุมหารือ เพื่อพิจารณาว่าจำเป็นต้องแก้ไขกฎกระทรวง เพื่อเพิ่มเติมวัตถุชนิดในบัญชีวัตถุต้องห้าม หรือไม่ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับการเดินอากาศ   นางระวีวรรณ เนตระคเวสนะ  ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กล่าวว่า ได้หารือกันในฝ่ายบริหารเพื่อกำหนดมาตรการดูแลความปลอดภัยเพิ่มเติมหลังเกิดเหตุกระเป๋าไฟลุก โดยต่อไปจะมีการแจ้งเตือน เกี่ยวกับรายละเอียดวัตถุต้องห้ามนำขึ้นเครื่องบินให้ผู้โดยสารรับทราบอย่างเข้มข้น เช่น การจัดทำป้ายแจ้งเตือน  พร้อมภาพประกอบเพื่อให้ผู้โดยสารรับทราบชัดเจน รวมถึงจะแจ้งรายละเอียดลงในอินเตอร์เน็ต เว็บไซต์ต่างๆเพิ่มเติมด้วย สำหรับรายละเอียดการประชาสัมพันธ์จะต้องหารือกับกรมการบินพลเรือนอีกครั้ง แต่ประเภทสิ่งของต้องห้ามได้กำหนดในพ.ร.บ.เดินอากาศอยู่แล้วว่า สิ่งของต้องห้ามมีอะไร สัดส่วนเท่าไรที่จะไม่เป็นอันตราย ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ สิ่งของต้องห้ามนำติดตัวขึ้นเครื่อง กับสิ่งของที่ต้องห้ามในการนำขึ้นเครื่อง หรือจะนำขึ้นเครื่องต้องมีระเบียบปฏิบัติในการดำเนินการอย่างไร ดังนั้นต่อไปจะต้องประชาสัมพันธ์แบบเข้มข้น แจ้งให้ผู้โดยสารรู้ล่วงหน้าเหมือนกรณีห้ามนำของเหลว เช่น น้ำหอม เครื่องดื่ม สุรา ติดตัวขึ้นเครื่องบิน “หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ได้ทดสอบนำปุ๋ยชนิดต่างๆมาทำการทดสอบผ่านเครื่องเอ็กซเรย์ระบบซีทีเอกซ์ พบว่าเครื่องสามารถตรวจสอบเจอ และคัดแยกวัตถุต้องห้ามได้ ดังนั้น จึงขอให้ผู้โดยสารมั่นใจได้ว่า จะไม่มีวัตถุต้องห้ามเล็ดลอดขึ้นเครื่องบิน จนอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ซึ่งทอท.ดูแลความปลอดภัยเป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยทางการบินของทีเอสเออย่างเคร่งครัด” ส่วนความเสียหายจากเหตุครั้งนี้ ทอท.ได้ดำเนินการแก้ไขแล้ว คิดเป็นมูลค่า 21,000 บาท ซึ่งผู้โดยสารที่เป็นต้นเหตุจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนผลทางคดีจะต้องรอเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบ เพราะมีการติดต่อขอปุ๋ยชนิดเดียวกันนี้มาทำการตรวจสอบอย่างละเอียด เพราะปุ๋ยตัวอย่างที่ทำให้เกิดไฟลุกไหม้ถูกเผาเสียหายหมดแล้ว ว่าที่ ร.ท.จตุรงคพล สดมณี ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง กล่าวว่า การขนส่งสินค้าวัตถุอันตรายตามปกติจะกำหนดระเบียบปฏิบัติซึ่งผู้ประกอบการที่ขนส่งผ่านคลังสินค้าจะรับทราบเพราะต้องมีการกรอบแบบฟอร์มเอกสาร ส่วนผู้โดยสารทั่วไปนั้น อาจไม่ทราบ ซึ่ง ทอท.อาจมีการพิจารณาเพื่อจัดทำรายละเอียดลักษณะเดียวกับประกาศวัตถุต้องห้ามนำขึ้นเครื่องรวมทั้งเผยแพร่ผ่านสื่อทางอินเตอร์เน็ตด้วย

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ล้อมคอกวัตถุต้องห้ามขึ้นเครื่อง

Posts related