นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ต.ค. 56 อยู่ระดับ 76.6 ต่ำสุดในรอบ 19 เดือนนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 55 เนื่องจากประชาชนชะลอการใช้จ่ายลงจากปัญหาการซบเซาของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรกรตกต่ำ, ผลกระทบจากน้ำท่วม และกังวลความขัดแย้งทางการเมืองที่มีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้น เป็นต้นทั้งนี้คาดว่าภาวะเศรษฐกิจไทยยังชะลอตัวลงต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี 56 เนื่องจากยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัว แต่หากรัฐบาลสามารถคลี่คลายสถานการณ์ทางการเมืองให้มีเสถียรภาพโดยเร็วและเร่งรัดการใช้นโยบายการคลังผ่านการใช้งบประมาณ เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในระบบ เชื่อว่าจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็ว เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจมีความแข็งแกร่งอยู่แล้ว “ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคไม่ถึงระดับ 100 แสดงว่าผู้บริโภคไม่มีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ในอนาคตมากนัก โดยเฉพาะเรื่องรายได้ที่จะเข้ากระเป๋าและสถานการณ์เศรษฐกิจไทยและโลกที่ยังมีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวลงอยู่”ผลกระทบจากการบริโภคชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ดัชนีความเหมาะสมในการลงทุนทำธุรกิจของเอสเอ็มอี อยู่ในระดับ 72.6 เป็นอัตราต่ำสุดในรอบ 88 เดือนหรือในรอบ 7 ปี 4 เดือน ตั้งแต่เริ่มมีการสำรวจมาในเดือน ก.ค. 48 เนื่องจากธุรกิจเอสเอ็มอีประสบปัญหาในการจำหน่ายสินค้าที่ลำบากจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและปัญหาต้นทุนการผลิตสินค้าที่สูง เช่น นโยบายค่าจ้าง 300 บาทต่อวันทั่วประเทศส่วนผลสำรวจรายจ่ายของผู้บริโภคพบว่า ดัชนีความเหมาะสมในการซื้อรถยนต์คันใหม่ในปัจจุบันอยู่ระดับ 102.3 ซึ่งปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และเป็นอัตราที่ต่ำสัดในรอบ 13 เดือน, ความเหมาะสมในการซื้อบ้านหลังใหม่อยู่ในระดับ 96 ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 และเป็นอัตราต่ำสุดในรอบ 23 เดือน และความเหมาะสมในการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว อยู่ระดับ 86.1 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 และเป็นอัตราต่ำสุดในรอบ 23 เดือนสำหรับการสำรวจภาวการณ์การทางสังคมของผู้บริโภค ในด้านความสุขในการดำรงชีวิต พบว่าดัชนีลดลงจาก 82 เหลือ 80 ต่ำสุดในรอบ 16 เดือน ดัชนี ภาวะค่าครองชีพ ลดลงจาก 56.7 เหลือ 54 ต่ำสุดในรอบ 1 2 เดือน ดัชนีเกี่ยวกับปัญหายาเสพติด ลดลง จาก63.5 เหลือ 62.3 ต่ำสุดในรอบ 13 เดือน ดัชนีเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง ลดลงจาก 61.5 เป็น 58.6 ต่ำสุดในรอบ 29 เดือน นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ประเมินตัวเลขเศรษฐกิจในปี 56 อยู่ที่ 3.5% หากปัญหาเรื่องความขัดแย้งของร่างพ.ร.บ. ไม่รุนแรงก็จะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจไทยภาพรวมแต่หากเกิดเหตุการณ์รุนแรงก็จะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยลดลงเหลือระดับ 3.2-3.2% ขณะที่ในปี 57 ได้ประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ระดับ 5.1% ซึ่งหากเหตการณ์ไม่รุนแรงตัวเลขเศรษฐกิจก็อยู่ในระดับเดิม แต่หากเหตุการณ์รุนแรงตัวเลขเศรษฐกิจจะลดลงเหลือ 4.5-4.7%“สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในภาพรวมปีนี้อยู่ในภาวะชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก รวมถึงผลกระทบจากภาคบริโภคในประเทศและการส่งออกก็อยู่ในภาวะซบเซาเช่นกัน เมื่อผสมกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองก็จะทำให้เศรษฐกิจภายในประเทศยิ่งซบเซาเพิ่มเข้าไปอีก”

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจระบุ เศรษฐกิจซบ ความเชื่อมั่นทรุด

Posts related