วันนี้(4 มิ.ย. 57) ที่โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)ร่วมกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ว.ส.ท.) จัดสัมมนา “ลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย”เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้เข้าถึงองค์ความรู้พื้นฐานด้านแผ่นดินไหวแนวทางปฏิบัติ และการจัดการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยด้านแผ่นดินไหว  โดยมีนักวิชาการ นักวิจัย จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ศ.นพ.สุทธิพันธ์  จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า  การเกิดแผ่นดินไหวในบริเวณจังหวัดเชียงรายขนาด 6.3 ริกเตอร์  เมื่อวันที่ 5พ.ค. 57 ที่ผ่านมาถูกบันทึกว่าเป็นแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงมากครั้งหนึ่งที่เกิดในประเทศไทย  มีรายงานการเกิดอาฟเตอร์ช็อกแล้วเกือบพันครั้ง  ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ 7จังหวัด สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน  การเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้ทำให้เห็นข้อจำกัดหลายประการของการจัดการภัยพิบัติโดยเฉพาะมาตรฐานความปลอดภัยของสิ่งก่อสร้าง   ซึ่งได้เกิดความเสียหายอย่างมากกับโครงสร้างอาคารบ้านพักและโครงสร้างพื้นฐาน การเตือนภัยแผ่นดินไหวเป็นเรื่องที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า  สิ่งที่สำคัญคือ การเตรียมพร้อมเชิงรุกด้านการป้องกัน และมีการศึกษาวิจัยและพัฒนาในเรื่องดังกล่าวควบคู่กันไปด้วย   เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวและลดผลกระทบจากภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคตทั้งนี้  สกว. เริ่มต้นสนับสนุนการศึกษาวิจัยภัยพิบัติแผ่นดินไหวตั้งแต่ปี2545แก่นักวิจัยในโครงการวิจัยลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย โดยมีรศ.ดร.เป็นหนึ่ง  วาณิชชัยเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยและได้สนับสนุนต่อเนื่องเป็นโครงการวิจัยขนาดใหญ่จนถึงปัจจุบัน เกิดเครือข่ายนักวิชาการแผ่นดินไหวจากหลายสถาบันการศึกษาและหน่วยงานปฏิบัติและมีการสร้างองค์ความรู้พื้นฐาน  รวมทั้งผลิตชุดความรู้ที่สามารถนำไปใช้ในการป้องกันและลดผลกระทบจากภัยแผ่นดินไหวได้   ซึ่งการประชุมสัมมนาครั้งนี้จะเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ไปสู่กลุ่มผู้ใช้ประโยชน์ในวงกว้างมากขึ้นด้าน รศ.ดร.เป็นหนึ่ง   วานิชชัย  จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย หรือเอไอที ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทยสกว.กล่าวว่าโครงการวิจัยลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทยดำเนินมาอย่างต่อเนื่องขณะนี้กำลังก้าวเข้าสู่ระยะที่4 แล้วสามารถผลิตนักวิจัยในโครงการจากหลากหลายสถาบันเพื่อร่วมกันสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจที่ชัดเจนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดมาตรการต่างๆ ซึ่งหัวข้อวิจัยในระยะที่ผ่านมา  เน้นการศึกษาและประเมินอาคารบ้านเรือนในประเทศไทยว่าสามารถทนต่อแรงต้านทานที่เกิดแผ่นดินไหวได้มากน้อยเพียงใดและในระดับใด ซึ่งปัญหาที่สำคัญคืออาคารที่มีอยู่จำนวนมาก เช่น ตึกแถว ห้างร้านต่างๆ ไม่สามารถต้านทานแผ่นดินไหวได้  โดยอาคารทั่วไปจะมีจุดอ่อนไหวหลายจุดเช่น โครงสร้างชั้นล่างที่ไม่แข็งแรง  การเสริมเหล็กที่ไม่ถูกวิธีนอกจากนี้ในการเก็บข้อมูลตัวอย่างอาคารเพื่อใช้ในการศึกษาและประเมินไม่สามารถใช้ความรู้ทางวิศวกรรมปกติได้ ทำให้นักวิจัยต้องใช้เวลาและค้นหาเทคนิควิธีพิเศษทางวิศวกรรมซึ่งเป็นเรื่องของการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ได้องค์ความรู้ใหม่และมีความเป็นเฉพาะทางสำหรับเรื่องการรับมือแผ่นดินไหวด้านรศ.ดร.ปัญญา  จารุศิริ  นักวิจัยด้านธรณีวิทยาจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวถึงการสำรวจรอยเลื่อนในประเทศไทยว่า รอยเลื่อนเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวที่รู้สึกได้ในประเทศไทยซึ่งรอยเลื่อนมี 2 ประเภทคือ รอยเลื่อนมีพลัง ที่พร้อมจะเกิดการเคลื่อนตัวและทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้อีกและรอยเลื่อนตายที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวมาแล้วในอดีตและจะไม่เกิดอีก ทั้งนี้ที่ผ่านมาพบว่าในประเทศไทยยังมีรอยเลื่อนมีพลังเป็นจำนวนมากและยังไม่ถูกค้นพบอีกมาก ซึ่งต้องใช้เวลา ความพยายามแต่จำเป็นต้องทำ  เพื่อให้เกิดการวางแผนป้องกันที่ดีทั้งนี้จากการศึกษารอยเลื่อนมีพลังพบว่า ยังมีรอยเลื่อนที่น่าสนใจอีกมาก โดยเฉพาะกลุ่มรอยเลื่อนที่มีขนาดสั้น ๆที่ไม่เคยคาดว่าจะทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้อย่างเช่น  กลุ่มรอยเลื่อนพะเยา ที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวที่เชียงรายเมื่อต้นเดือนพ.ค. 57 ที่ผ่านมา และยังคงต้องเฝ้าระวังรอยเลื่อนแม่จันรอยเลื่อนขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้เคียง รอยเลื่อนในภาคใต้  รวมถึงรอยเลื่อนที่อยู่ใกล้กรุงเทพ  เช่น  รอยเลื่อนองครักษ์และรอยเลื่อนในกาญจนบุรีอีกด้วยนอกจากนี้ยังมีการหัวข้อสัมมนาที่น่าสนใจอาทิ การพิจารณาความเสี่ยงแผ่นดินไหวของประเทศไทยเพื่อใช้ในการออกแบบอาคารต้านแผ่นดินไหว ความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหวของอาคารสูงในกรุงเทพ  การขยายคลื่นของชั้นดินอ่อนในเมืองใหญ่ฐานข้อมูลสารสนเทศด้านแผ่นดินไหวจากระบบเครือข่ายสถานีตรวจแผ่นดินไหวในประเทศไทย  และแนวทางในการเสริมความแข็งแรงให้กับอาคารต้านแผ่นดินไหว 

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : สกว.จัดสัมมนาลดภัยพิบัติแผ่นดินไหวในไทย

Posts related