สัปดาห์ที่แล้วผมเขียนถึง นาฬิกาฉลาด โดยมองถึงคุณสมบัติทั่ว ๆ ไป และวิวัฒนาการของมัน แฟนประจำขอมาว่า อยากได้ข้อมูลสำหรับเลือกซื้อสินค้าชนิดนี้หน่อย สัปดาห์นี้เรามาคุยเรื่องนี้กันครับ เพื่อเป็นการจำกัดวงในแคบพอควร ผมจะพูดถึงผลิตภัณฑ์ที่มาจากบริษัทใหญ่ที่มีขายในบ้านเรา หรือหาซื้อได้โดยง่าย และที่ประกาศแล้วว่าจะขายในเร็ว ๆ นี้ ผมจะเลี่ยงการใช้ชื่อผู้ผลิตตรง ๆ ซึ่งจะดูเป็นการโฆษณามากเกินไป โดยใช้ชื่อเล่นดังนี้ ซัมซุง เรียกว่า ค่ายเอส แอลจี เรียก ค่ายแอล โมโตโรลา เรียก ค่ายเอ็ม บริษัทเพบเบิล เรียก ค่ายพี บริษัทการ์มิน เรียก ค่ายจี และแอปเปิล เรียก ค่ายผลไม้ เป็นต้น แค่ตั้งชื่อเล่น จะเห็นได้ว่า มีนาฬิกาฉลาดผลิตออกมาหลากหลายทีเดียว เรามาจัดกลุ่มดูก่อน ถ้าจัดตามรูปร่าง แบ่งเป็นหน้าปัดเหลี่ยมกับหน้าปัดกลม และเป็นนาฬิกาข้อมือ หรือเป็นกำไล นอกจากนั้นสามารถแบ่งตามหน้าที่หลัก คือ ใช้งานคู่กับโทรศัพท์เป็นหลัก หรือใช้เพื่อสุขภาพและการออกกำลังกายเป็นหลัก อย่างสุดท้าย จัดกลุ่มตามชนิดของซอฟต์แวร์หลัก แบ่งเป็นค่ายกูเกิล ค่ายผลไม้ และค่ายอิสระ ผมจะพูดถึงผลิตภัณฑ์โดยผสมผสานกันไป นาฬิกาฉลาดของค่ายเอส ค่ายแอล และค่ายเอ็ม ใช้ซอฟต์แวร์ของกูเกิล ชื่อ   Amdroid Wear เป็นการต่อยอดซอฟต์แวร์ของสมาร์ทโฟนที่ครองตลาด 90% เพื่อใช้กับนาฬิกาซึ่งมีข้อจำกัดเรื่องขนาดหน้าจอ และแหล่งพลังงาน ใช้งานได้ดังต่อไปนี้ อย่างแรกเป็นนาฬิกาเปลี่ยนหน้าปัดได้หลายหลาก จอสัมผัสใช้งานแบบสมาร์ทโฟน ต้องต่อกับโทรศัพท์ที่ใช้แอนดรอยด์รุ่น 4.4 ขึ้นไป (ผมคงต้องขออนุญาตภรรยาซื้อมือถือใหม่แล้ว) โดยผ่านบลูทูธกินพลังงานต่ำ แสดงการแจ้งเตือนต่าง ๆ จากโทรศัพท์ เช่น มีข้อความเข้า มีคนโทรฯ มา (พร้อมขึ้นรูป) ถึงเวลานัดหมาย สามารถสั่งงานด้วยเสียง ให้ส่งข้อความ ให้รับหรือไม่รับสาย ให้เปิดโปรแกรมอื่น ๆ เช่น ค้นหาข้อมูล ผมไม่แน่ใจว่าคุยโทรศัพท์ผ่านนาฬิกาได้เลยทุกรุ่นหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ทำให้เราใช้งานโทรศัพท์ได้โดยไม่ต้องหยิบโทรศัพท์ออกมา ทำให้สะดวกเพราะสัมผัสหรือพูดสั่งนาฬิกาได้ทันที นอกจากนั้นสามารถใช้งานเพื่อสุขภาพและการออกกำลังกาย เพราะมีเซ็นเซอร์ติดตามการเคลื่อนไหว เช่น แจ้งจำนวนก้าวการเดิน และแนะนำเราว่าควรออกกำลังกายได้แล้ว นั่งนานเกินไปแล้ว เป็นต้น บางรุ่นมีเซ็นเซอร์อื่น ๆ เช่น วัดอัตราการเต้นหัวใจ หรือวัดระดับความสูง (เหมาะกับคนที่ชอบไปปีนเขากระมัง) และที่สำคัญ สำหรับค่ายซอฟต์แวร์นี้ คือ ลงโปรแกรมอื่น ๆ เพิ่มได้ คล้ายกับสมาร์ทโฟน คู่แข่งที่มาแรงสุดของกลุ่มนี้ คือ ค่ายผลไม้ แน่นอนว่า ต้องใช้ร่วมกับไอโฟน ขั้นต่ำต้องเป็นไอโฟนห้า (ถึงเวลาอัพเกรดสำหรับเหล่าสาวกแล้วครับ) การใช้งานก็คล้ายกับอีกค่ายแทบทุกอย่าง แต่นาฬิกาค่ายผลไม้ มีเม็ดมะยมให้ใช้หมุนตั้งค่าเลือกเมนูต่าง ๆ ด้วย นอกเหนือไปจากจอสัมผัส (อันนี้ทำให้นึกถึงนาฬิกาไอบีเอ็มในปี ค.ศ. 2000) และไม่มีเซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจ ค่ายอิสระที่น่าสนใจ คือ ค่ายตัวพี ซึ่งเป็นเจ้าแรกที่บุกเบิก ตลาดนาฬิกาฉลาดยุคใหม่เป็นผลสำเร็จ ด้วยเหตุสองประการ หนึ่ง แบตเตอรี่อยู่ได้นานหลายวันก่อนต้องชาร์จ เพราะใช้จอขาวดำ ที่เรียกว่า e-ink คุณสมบัตินี้ยังไม่มีนาฬิกาฉลาดอันใดสู้ได้ แทบทุกเรือนต้องชาร์จวันต่อวัน สองราคาประหยัด ค่ายนี้จะมีซอฟต์แวร์ของตนเอง ส่วนค่ายจี เน้นการใช้งานสำหรับการออกกำลังกาย ไม่ต้องพกโทรศัพท์มือถือ ตอนออกไปวิ่งหรือเข้ายิม จึงไม่มีการใช้งานแบบโทรศัพท์ สามารถต่อกับคอมพิวเตอร์ผ่านบลูทูธ เอาข้อมูลการออกกำลังกายมาแสดงผลสถิติได้ พัฒนาผลิตภัณฑ์มาหลายปีแล้ว จนมีชื่อเสียงเรื่องความทนทาน ผมเป็นคนหนึ่งที่ชอบนาฬิกา เคยพยายามเรียนการซ่อมนาฬิกาข้อมูล รู้สึกว่าเท่ที่ทำงานกับกลไกขนาดจิ๋ว ต้องใช้แว่นขยายติดตา เพื่อที่จะมองเห็นกลไกต่าง ๆ เนื่องจากแต่เดิม หน้าที่ของนาฬิกา คือบอกเวลาเท่านั้น การเลือกซื้อจึงมองที่รูปร่าง วัสดุ ความสวยงาม ความทนทาน เป็นหลัก นาฬิกาฉลาดมีการใช้งานที่ซับซ้อนกว่ามาก ซอฟต์แวร์และวงจรอิเล็กทรอนิกส์ภายใน มีผลต่อผู้ใช้ในลักษณะเดียวกับสมาร์ทโฟน อย่างแรก คือ ความสวยงามบนหน้าจอ อย่างที่สอง คือ ความไหลลื่นของจอสัมผัส และอย่างสุดท้าย คือ อายุทำงานของแบตเตอรี่ (อยู่ครบวันไหม) ทุกค่ายผู้ผลิตประกาศตัวนาฬิกาฉลาดของตนในช่วงเดือนนี้ เพราะเข้าใกล้ฤดูกาลซื้อของขวัญปลายปีแล้ว เมื่อคืนวันอังคารผมถ่างตารอดูการประกาศตัวของนาฬิกาค่ายผลไม้ตอนเที่ยงคืน ก็สวยงามครับ น่ารัก ผมให้ฉายาได้เลยว่า ชื่อ ตุ้ยนุ้ย ขอบมน อ้วน ๆ ป้อม ๆ มีสายให้เลือกหลายวัสดุ เช่นเดียวกันทุกค่าย ตลาดแข่งขันที่แท้จริง อาจจะเป็นนาฬิกาข้อมือในปัจจุบันนี่แหละ ทั้งในแง่แฟชั่นและช่วงราคา “ใครจะมาแย่งที่นาฬิกาบนข้อมือของผม ที่ใส่ไปว่ายน้ำประจำ?” ศ.ดร.ประภาส จงสถิตวัฒนา ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : สงคราม Smart Watch – 1001

Posts related