นางสุทธินีย์พู่ผกา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอเปิดเผยระหว่างการศึกษางานเชิงปฎิบัติการด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมประเทศอินโดนีเซียว่า สถาบันมีแผนที่จะส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ)อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแบบครบวงจรของอาเซียนภายในปี 59 ตั้งแต่การพัฒนาการผลิตสินค้า ศูนย์รวมของการค้าขาย การสร้างมูลค่าเพิ่ม แฟชั่นและมาตรฐานสินค้าเพื่อรองรับการแข่งขัน “หลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)ทำให้เป็นตลาดที่ใหญ่มีประชากรรวมกัน 600 ล้านคน ดังนั้นไทยจำเป็นต้องเร่งเตรียมพร้อมในทุกๆด้านโดยในปัจจุบันประเทศในอาเซียนที่มีอุตสาหกรรมสิ่งทอฯแบบครบวงจรคือไทยกับอินโดนีเซียโดยอินโดนีเซียเป็นตลาดใหญ่และโดดเด่นด้านเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายมุสลิมที่มีการพัฒนาแฟชั่นล้ำหน้ากว่าไทยแต่ในส่วนของไทยจะมีความโดดเด่นเรื่องฝีมือ ศักยภาพและคุณภาพสินค้าเสื้อผ้าทั่วไป” นางสุทธินีย์กล่าวว่า แม้ว่าประเทศไทยจะมีชาวมุสลิม 6-7 ล้านคนซึ่งน้อยกว่าอินโดฯที่มีกว่า 200 ล้านคนแต่สถาบันฯก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเครื่องแต่งกายมุสลิมในไทยอย่างมากเช่นกันเพราะต้องการช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชากรใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้และยกระดับความสามารถการแข่งขันผู้ประกอบการทั้งการออกแบบ การสร้างตลาดและการจับมือทางธุรกิจกับผู้ประกอบการในเพื่อนบ้านมากขึ้น สำหรับการเดินทางมาศึกษางานในประเทศอินโดนีเซียนั้นสถาบันได้นำนักออกแบบผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญมาศึกษาวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดบนเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายที่มีกว่า10,000 วัฒนธรรม ทั้งที่เป็นวัฒนธรรมใหญ่และวัฒนธรรมในชุมชนเล็กๆ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญคัดรูปแบบของอินโดนีเซียมาผสมกับวัฒนธรรมไทยของไทยในการออกแบบและลวดลายบนเครื่องแต่งกายมุสลิมของผู้ประกอบการไทยในอนาคตเพื่อรองรับความต้องการสินค้าแฟชั่นของชาวมุสลิมทั่วโลก “เท่าที่สอบถามผู้ประกอบการในอินโดฯ ส่วนใหญ่ก็จะมีการพัฒนาสินค้าด้วยตนเองโดยไม่ค่อยจ้างต่างชาติขณะที่บางรายก็ส่งลูกหลานไปเรียนถึงฝรั่งเศสและยุโรปประเทศอื่นเกี่ยวกับด้านดีไซน์จนสามารถพัฒนาแฟชั่นเครื่องแต่งกายมุสลิม ได้เป็นอย่างดีอย่างไรก็ตามประเทศไทยคงไม่เน้นการผลิตเครื่องแต่งกายมุสลิมมาเจาะตลาดที่อินโดนีเซียแต่ละเน้นการพัฒนาสินค้าและแฟชั่นให้สอดคล้องกับความต้องการสินค้าแฟชั่นของมุสลิมโลกโดยเฉพาะในตลาดที่มีกำลังซื้อสูงอย่าง ตะวันออกกลาง”   นางสุทธินีย์กล่าวว่า ในปัจจุบันผู้บริโภคที่เป็นมุสลิมมีประมาณ2,000 ล้านคน ดังนั้นจะเร่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเครื่องแต่งกายมุสลิมใน 5 จังหวัดที่มีความพร้อมให้สามารถออกไปมีบทบาทในการทำธุรกิจในอาเซียนมากขึ้นและสามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจากภูมิภาคอาเซียนเพื่อให้ลูกค้าทั่วโลกรู้จักเครื่องแต่งกายมุสลิมจากประเทศไทยมากยิ่งขึ้นจากที่ปัจจุบันจะรู้จักเครื่องแต่งกายจากมาเลเซียและอินโดนีเซียมากกว่าไทย

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : สถาบันฯสิ่งทอดันไทยเป็นฮับแฟชั่นอาเซียน

Posts related