ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากเกิดเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองมีความรุนแรงขึ้นตั้งแต่วันที่1ธ.ค.ทางภาคเอกชน7สถาบันคือ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน3สถาบัน(กกร.)ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทย ,สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.),สมาคมธนาคารไทยร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย(สทท.),สภาธุรกิจตลาดทุนไทย,ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.), สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทยได้มีความกังวลต่อสถานการณ์ที่มีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องจึงได้นัดประชุมหารือร่วมกันเพื่อแสดงจุดยืนของภาคเอกชน นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกกร.และประธานสภาหอการค้าฯ เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือร่วมกันของภาคเอกชนว่าภาคเอกชน 7สถาบันได้มีข้อสรุปร่วมกันว่าเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติความขัดแย้งและการกระทำที่นำไปสู่เหตุการณ์ร้ายแรงซึ่งจะยิ่งสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศรวมทั้งยังกระทบต่อความน่าเชื่อถือประเทศไทยในสังคมโลกและความเสียหายต่อชีวิตทรัพย์สิน โดยขอให้แก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยการเจรจาจา ห้ามใช้ความรุนแรงซึ่งจะทำให้เกิดความสูญเสียซึ่งหากยังมีการชุมนุมลากยาวต่อไปจะยิ่งส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจไทยและจะทำให้ไทยถูกจัดเป็นรัฐที่ล้มเหลว(เฟลสเตท)หรือเป็นอนาธิปไตยในสายตาโลกได้ ทั้งนี้ภาคเอกชนเห็นว่าหนทางที่จะนำไปสู่สันติคือ การทำตามกติกาโดยหาทางออกในวิถีประชาธิปไตยเพื่อให้สถานการณ์บ้านเมืองเป็นไปในลักษณะเดิมภายหลังจากการเลือกตั้งซึ่งไมได้เสนอให้รัฐบาลยุบสภาแต่หมายความว่า หากจะมีการเลือกตั้งใหม่ต้อง ให้มีการเจรจาระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องกับทุกฝ่ายเพื่อให้ได้ข้อยุติเบื้องต้นก่อนที่จะมีการเลือกตั้งโดยให้มีผู้แทนองค์กรเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายโดยภาคเอกชน พร้อมที่จะร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อหาทางออกให้ประเทศโดยยึดหลักความถูกต้อง นางปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ส.ท.ท.)กล่าวว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวเดือนพ.ย.56 เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนจำนวนนักท่องเที่ยวปรับเพิ่มขึ้น11%แต่จากสถานการณ์ความรุนแรงในขณะนี้ส่งผลให้ 33ประเทศได้ประกาศเตือนเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยแล้วในระดับ2หากเตือนถึงระดับ5คาดว่าในช่วงเดือน ธ.ค.ซึ่งเป็นฤดูช่วงท่องเที่ยว(ไฮซีซั่น)นี้จำนวนนักท่องเที่ยวจะลดลง8-10%คิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวหายไป500,000คนมูลค่ารายได้หายไป 25,000ล้านบาท นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานส.อ.ท.กล่าวว่าสถานการณ์ทางการเมืองในครั้งนี้ส่งผลร้ายแรงต่อความเชื่อมั่นสูงกว่าเหตุการณ์น้ำท่วมในปี54เนื่องจากเป็นผลมาจากโครงสร้างทางสังคมการเมืองที่มีปัญหาซึ่งจะกระทบต่อการตัดสินใจมาลงทุนในบ้านเมืองที่กฎระเบียบเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาซึ่งตอนนี้นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เริ่มวิตกกังวลชะลอการลงทุนและย้ายฐานการลงทุนไปประเทศอื่นในภูมิภาคบ้างแล้วและในระยะยาว ความน่าสนใจในการลงทุนของไทยจากปัจจุบันที่อยู่ที่ 3ของภูมิภาครองจากอินโดนีเชียและเวียดนามอาจตกลงไปอีก หรืออาจจะแพ้พม่าเลยก็ได้ นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทยกล่าวว่า ขณะนี้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศลดลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำมากเห็นได้จากแรงขายในตลท.ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติขายสุทธิแล้ว17,000ล้านบาทเดือน พ.ย.นักลงทุนเทขายไป50,000ล้านบาทส่งผลให้ทั้งปีนี้ยอดขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติอยู่ที่150,000ล้านบาทแล้วและถ้าเหตุการณ์ยังยืดเยื้อต่อเนื่องการขายของนักลงทุนต่างชาติจะยังไม่จบเพราะนักลงทุนมีทางเลือกเป็นจำนวนมากซึ่งตลาดหุ้นเป็นหัวใจหนึ่งของภาคการเงินในประเทศจะทำให้กระทบต่อความเสียหายของเศรษฐกิจจากเดิมที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ปีนี้จะขยายตัวที่ 3%อาจทำได้แค่2%กว่าๆและปีหน้าจากเดิมคาดว่าขยายตัว 4-5%แต่ถ้าไม่รีบจบปัญหาจะขยายตัวได้แค่ 3%ก็ไม่รู้จะถึงหรือไม่ นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการตลท.กล่าวว่าหากประเมินผลกระทบเงินไหลออกตั้งวันที่30ต.ค.จนถึงปัจจุบันซึ่งมีการชุมนุมเกิดขึ้นพบว่ามีเงินไหลออกจากตลาดหลักทรัพย์แล้วกว่า45,000ล้านบาทซึ่งหากยังมีความรุนแรงมากขึ้นสถานการณ์เงินไหลออกดังกล่าวก็จะยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง..

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : สถาบันเอกชน 7 แห่ง จี้ทุกฝ่ายเจรจาจบปัญหา

Posts related