การอับเสบที่เกิดภายในร่างกายถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ หากไม่ทราบสาเหตุหรือจุดที่อักเสบ นาน ๆ ไปเชื้อโรคอาจเข้าสู่กระแสเลือด และหากเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดจะยากแก่การรักษาและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้  เทคนิคทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์จึงมีบทบาท โดยสามารถนำมาวินิจฉัยเชื้อในกรณีที่ผู้ป่วยมีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ หรือในผู้ป่วยติดเชื้อที่ไม่สามารถวินิจฉัยได้ โดยวิธีอื่น ๆ ซึ่งไม่ทราบตำแหน่งของการอักเสบที่แท้จริงว่าอยู่ในจุดใด ดร.สมพร จองคำ ผู้อำนวยการ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ หรือ สทน. เปิดเผยว่า ปัจจุบันศูนย์ไอโซโทปรังสี ของ สทน. สามารถผลิตเภสัชรังสี  เทคนิเชียม ไซโปรฟลอกซาซิน (99m Tc–Ciprofloxacin) สำหรับวินิจฉัยบริเวณที่เกิดการอักเสบในร่างกาย โดยค้นหาตำแหน่งที่เกิดการอักเสบติดเชื้อได้ทุกจุด 100% ใช้ง่าย และราคาถูก ซึ่งทำให้การรักษาสามารถทำได้อย่างทันท่วงที ด้านนางอังคนันท์ อังกุรรัตน์ หัวหน้าฝ่ายควบคุมคุณภาพ ศูนย์ไอโซโทปรังสี สทน. กล่าวว่า เทคนิเชียม ไซโปรฟลอกซาซิน คือ เภสัชรังสีที่สามารถใช้วินิจฉัยอาการอักเสบได้ตรงจุด เห็นได้อย่างชัดเจนจากการเอกซเรย์หลังจากฉีดยาดังกล่าวเข้าไปในร่างกายผู้ป่วย เนื่องจากยาไซโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin) จัดเป็นยาปฏิชีวนะกลุ่มควิโนโลน (Quinolones) ที่มีการใช้แพร่หลายในโรงพยาบาล คือ ไซโปรเบ หรือ ซิโปรเบ (Ciprobay) มีสรรพคุณใช้รักษาการติดเชื้อของหูชั้นกลาง ไซนัสอักเสบ ทางเดินปัสสาวะอักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ และการติดเชื้อในกระแสเลือด ยาไซโปรฟลอกซาซิน มีกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งการสังเคราะห์สารพันธุกรรม หรือ ดีเอ็นเอ ของแบคทีเรีย จึงส่งผลยับยั้งการแพร่พันธุ์ของแบคทีเรียได้ จากคุณสมบัติของยาดังกล่าว จึงได้นำยาชนิดนี้มาติดฉลากรังสีด้วยเทคนิเชียม 99 เอ็ม แล้ว เมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกายคนไข้ ยาดังกล่าวจะวิ่งไปยังจุดที่มีการอักเสบในร่างกาย เมื่อนำผู้ป่วยมาถ่ายภาพด้วยเครื่องเอกซเรย์จะปรากฏจุดที่อักเสบในร่างกายชัดเจน ทำให้แพทย์สามารถทำการรักษาได้ง่ายและตรงจุดมากขึ้นทั้งนี้เทคนิเชียม ไซโปรฟลอกซาซิน ที่ สทน.เตรียมได้ จะมีลักษณะเป็นสารละลายใส ไม่มีสี มีความบริสุทธิ์ทางเคมีรังสีไม่น้อยกว่า 90% มีความคงตัว 6 ชั่วโมงที่อุณหภูมิห้อง มีความปลอดเชื้อ ปราศจากไพโรเจน (Pyrogen free) และปลอดพิษ เทคนิเชียม ไซโปรฟลอกซาซินจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการวินิจฉัยการติดเชื้อที่มีความเฉพาะเจาะจงตรงบริเวณที่เกิดการอักเสบ โดยเฉพาะที่กระดูก ข้อ และเนื้อเยื่ออ่อน ซึ่งสามารถให้ภาพจากการเอกซเรย์ได้อย่างชัดเจน ปัจจุบัน สทน. ได้ผลิตให้ เทคนิเชียม ไซโปรฟลอกซาซินให้บริการแก่ โรงพยาบาลต่าง ๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เช่น โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ .

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : สทน.ผลิตเภสัชรังสี ตรวจการอักเสบในร่างกาย

Posts related