เรดอนŽ ก๊าซเฉื่อยไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และไม่มีรส แต่อันตราย… เพราะนี่คือภัยเงียบที่มาจากอุปกรณ์ก่อสร้างในบ้าน ซึ่งถือได้ว่าเป็นภัยใกล้ตัว ดร.สมพร จองคำŽ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. เปิดเผยว่า เรดอน คือก๊าซกัมมันตรังสีที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ จากการเสื่อมสลายตัวของธาตุยูเรเนียมซึ่งมีปะปนอยู่ในหินดินทรายทั่วโลก จนกลายเป็นเรเดียมและกลายมาเป็นก๊าซเรดอนในที่สุด  เนื่องจากเรดอนปะปนอยู่ในชั้นหิน แร่หิน ที่สำคัญก๊าซเรดอนไม่มีสี ไม่มีกลิ่น คนเราไม่สามารถรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสใด ๆ ทำให้ก๊าซนี้สามารถแทรกตัวผ่านพื้นดินเข้ามาในตัวบ้านได้โดยไม่รู้ตัว นอกจากนั้นยังอาจจะมาจากหินหรือทรายที่มีแร่เรเดียมปนเปื้อน แล้วนำมาใช้ในการสร้างบ้านได้อีกด้วย มีข้อมูลระบุว่าก๊าซเรดอนที่สะสมในบ้านเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปอด และทำให้ผู้ป่วยในสหภาพยุโรปเสียชีวิตปีละ 20,000 คน ส่วนในสหรัฐอเมริกาพบว่าบ้าน 1 ในทุก 15 หลัง จะมีระดับก๊าซเรดอนสูง จนองค์การวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ จัดให้ก๊าซเรดอนเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์อย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 หรือเมื่อ 25 ปี มาแล้ว  ดร.สมพร บอกว่า ในต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา มีการกําหนดระดับก๊าซเรดอนในอาคารที่พักอาศัย เพื่อให้มีระดับความปลอดภัยแก่ประชาชนมากที่สุด แต่ในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายกำหนดปริมาณก๊าซเรดอนที่ปลอดภัย แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าบ้านเรามีก๊าซเรดอน ในปริมาณสูงมากน้อยเพียงใด เพราะในประเทศไทยมีเครื่องมือในการวัดปริมาณก๊าซเรดอนและนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้อยู่ที่ สทน. ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวสามารถวัดปริมาณก๊าซเรดอนในพื้นที่เป้าหมายได้ผล อย่างแม่นยำ ดังนั้นหากผู้ประกอบการบ้านจัดสรร ซึ่งแม้จะใช้วัสดุอย่างดีในการก่อสร้างบ้าน แต่ก็ไม่ทราบว่าทรายที่นำมาผสมกับปูน หินแกรนิต หรือใยหินต่าง ๆ นั้น มีเรดอนปะปนอยู่หรือไม่ สามารถติดต่อกับ สทน. เพื่อขอรับบริการวัดก๊าซเรดอนได้ทันที ส่วนผู้ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะต้องอาศัยอยู่ในบ้านที่มีก๊าซเรดอนนั้น มีข้อแนะนำในการลดปริมาณก๊าซเรดอนภายในบ้านได้ ซึ่งทำได้หลายวิธี ตั้งแต่การออกแบบบ้านให้มีช่องระบายอากาศ และไม่ปิดทึบจนเกินไป การเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่ไม่มีสารกัมมันตรังสี หมั่นระบายอากาศภายในบ้าน โดยการเปิดประตู หน้าต่าง และช่องระบายลม เพื่อไม่ให้มีก๊าซเรดอนอยู่ภายในบ้านสูงเกินไป และที่สำคัญคือ การอุดรอยร้าวและรอยแยกตามพื้นและผนังของบ้าน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เรดอนเข้าสู่ภายในบ้านได้.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : สทน.พร้อมตรวจวัด ‘เรดอน’ ภัยเงียบในบ้าน

Posts related