ปัจจุบันมีคนจำนวนไม่น้อยที่มักใช้สมุนไพรในการพอกหน้า ขัดผิว ทดแทนการใช้เครื่องสำอางสูตรปัจจุบัน ที่มีส่วนประกอบเป็นสารเคมีเป็นส่วนใหญ่   แต่การใช้สมุนไพรเหล่านี้ หากไม่มีมาตรฐานก็อาจก่อให้เกิดอันตรายได้เช่นกัน ดร.สมพร จองคำ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือสทน .กล่าวว่า การใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ขัดหน้า ขัดตัวจัดเป็นเครื่องสำอางที่ต้องได้มาตรฐานเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ ซึ่งผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก. 152-2555 เครื่องสำอาง  ได้กำหนดให้มีการตรวจเชื้อจุลินทรีย์ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางดังนี้ คือ จำนวนเชื้อจุลินทรีย์ทั้งหมดต้องน้อยกว่า 1,000 โคโลนีต่อกรัม และจะต้องไม่พบเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคประเภท Staphy lococcus aureus, Pseudomonas aeruginosa ซึ่งเป็นเชื้อโรคที่ส่งเสริมให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงขึ้น เช่น หากติดเชื้อที่ปอดอาจจะทำให้ปอดและหลอดลมอักเสบ รวมถึงหากได้รับเชื้อทางผิวหนังอาจจะทำให้เกิดโรคทางผิวหนังชนิด ecthyma gangrenosum คือ มีอาการลักษณะบวม แดง ค่อนข้างแข็ง ต่อมาจะกลายเป็นเนื้อตายได้  และในเครื่องสำอางสมุนไพรจะต้องตรวจไม่พบ Clostridium spp.  ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคบาดทะยัก สทน.โดยนักวิจัยของศูนย์ฉายรังสี ได้ทำการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นทางจุลชีววิทยาในวัตถุดิบสมุนไพรและส่วนผสมชนิดอื่น ๆ ที่มักใช้ผลิตเป็นเครื่องสำอางสมุนไพรไทยจำนวน 10 ชนิด ได้แก่ ไพล ขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน ว่านนางคำ ทานาคา กวาว เครือ จันทน์หอม เปลือกมังคุดดินสอพอง และจันทน์เทศแดง โดยพบว่าในวัตถุดิบทั้ง 10 ชนิด มีจำนวนแบคทีเรียทั้งหมดในระดับที่สูงมาก คือ 1,000-1,000,000 โคโลนีต่อกรัม ทั้ง ๆ ที่ค่ามาตรฐานของไทยที่กำหนดคือ ต้องมีไม่เกิน 1,000 โคโลนีต่อกรัม  และพบการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ Clostridium spp. ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคบาดทะยัก ในวัตถุดิบ 4 ชนิด คือ ไพล  ทานาคา กวาวเครือ และ ดินสอพอง ซึ่งใช้เป็นส่วนประกอบหลักในเครื่องสำอางสมุนไพรไทย เห็นได้ว่าวัตถุดิบเครื่องสำอางสมุนไพรไทยมีคุณภาพทางด้านเชื้อจุลินทรีย์ต่ำมาก หากนำมาใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางก็จะทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์สูงเช่นเดียวกัน  จากนั้นได้สุ่มตรวจเครื่องสำอางสมุนไพรไทยที่สามารถหาซื้อตามตลาดทั่วไป เช่น ครีมโคลนสมุนไพรพอกตัวจำนวน 12 ตัวอย่างพบว่ามีจำนวนเชื้อจุลินทรีย์ทั้งหมดเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ 5 ตัวอย่าง (ร้อยละ 41.67) แป้งสมุนไพรพอกหน้าและขัดตัวจำนวน 40 ตัวอย่าง พบว่ามีจำนวนเชื้อจุลินทรีย์ทั้งหมดเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ 27 ตัวอย่าง (ร้อยละ 67.5)  และพบการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ Clostridium spp. ถึง 22 ตัวอย่าง (ร้อยละ 55) ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมด  จะเห็นได้ว่าการที่เครื่องสำอางสมุนไพรไทยไม่ได้มาตรฐานนั้น สาเหตุหลักเนื่องจากวัตถุดิบเป็นสมุนไพรที่มีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์มาก หากจะนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจะต้องมีคุณภาพสูงและต้องเป็นชนิดที่ใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางโดยเฉพาะ (cosmetic grade) ซึ่งควรที่จะปราศจากเชื้อจุลินทรีย์คือเป็น Sterilized grade ซึ่งในตลาดเมืองไทยปัจจุบันผู้ประกอบการยังละเลยในจุดนี้ อย่างไรก็ตามทาง สทน.ได้นำเทคโนโลยีการฉายรังสีแกมมาประยุกต์เพื่อใช้ในการฆ่าเชื้อโรคในผลิตภัณฑ์อาหาร สมุนไพร เครื่องเทศ เพื่อลดปริมาณเชื้อจุลินทรีย์รวมถึงการกำจัดเชื้อก่อโรค ผลปรากฏว่า การใช้รังสีแกมมาเพื่อลดปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ในวัตถุดิบของเครื่องสำอางสมุนไพร และเครื่องสำอางสมุนไพรประเภทแป้งพอกหน้าขัดตัว ครีมโคลนหมักตัวสามารถดำเนินการได้ และมีประสิทธิภาพมาก ปริมาณรังสีที่ใช้จะขึ้นกับปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์  โดยพบว่า ปริมาณรังสีแกมมาที่ 6.5-10 กิโลเกรย์สามารถลดปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ลงได้อย่างน้อยหมื่นถึงแสนเท่า (4-5 log cycle) ซึ่งอยู่ในขั้นปลอดภัยและเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ฉะนั้นเพื่อความปลอดภัย ผู้บริโภคควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานผ่านการฆ่าเชื้อโรคอย่างถูกวิธี เพื่อหลีกเลี่ยงเชื้อโรคที่อาจจะทำอันตรายต่อผิวและร่างกายได้ หากผู้ประกอบการเกี่ยวกับเครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร สนใจนำวัตถุดิบหรือสินค้า นำมาฉายรังสีแกมมาเพื่อฆ่าเชื้อโรค ลดปริมาณจุลินทรีย์ สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์ฉายรังสี  สทน.หรือ www.tint.or.th.  

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : สทน. เตือน ใช้เครื่องสำอางสมุนไพรเสี่ยงเชื้อโรค

Posts related