หลายหน่วยงานอาจสงสัยว่า สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สรอ. หรือชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า EGA ภายใต้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ที่ปัจจุบันดำเนินงานมาแล้ว 3 ปี แต่ไม่ค่อยมีการประชาสัมพันธ์และมีข่าวเผยแพร่มากนักทั้ง ๆ ที่งบประมาณได้มากกว่าหลายหน่วยงานด้วยซ้ำ โดยปี 57 ได้รับงบประมาณที่ 1,500 ล้านบาท ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการ สรอ.เล่าว่า ที่ผ่านมา สรอ.ทำในเรื่องของระบบหลังบ้านและการนำร่องโครงการมากกว่า แต่ในปี 57 นี้ จะเห็นผลงานชัดเจนขึ้น ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ดูได้จากตัวเลขการใช้งานบริการของภาครัฐที่เพิ่มขึ้น ที่เฉพาะในปี 56 ปีเดียว มีการใช้งานระบบจิน (GIN) เพิ่มขึ้น 1,000 ลิงค์ ส่วนบริการคลาวด์ภาครัฐ ที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่ พ.ค. 55 แต่ ก.ย. 56 มีถึง 150 หน่วยงาน รวม 260 ระบบงาน ส่วนเมล์โกไทย (mailgothai) ตอนนี้มีผู้ใช้งานประมาณ 220,000 บัญชีแล้ว สำหรับการดำเนินงานในงบประมาณปี 57 สรอ.จะเน้นเพิ่มแอพพลิเคชั่นและเพิ่มระบบความปลอดภัย เนื่องจากปี 56 ได้นำร่องหลายเรื่อง เช่น บริการซอฟต์แวร์ออนไลน์ภาครัฐ ถือเป็นการตอบโจทย์ว่าการใช้งาน และให้ภาครัฐได้ใช้ซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพ ซึ่งการนำร่องระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์บนซอฟต์แวร์ออนไลน์ภาครัฐ ปีนี้จะเร่งขยายซอฟต์แวร์อื่น ๆ เช่น เรื่องของ office on cloud โดยอยู่ระหว่างเจรจากับผู้มีส่วนร่วม และปีหน้าจะเห็นชัดเจนขึ้น เพื่อให้ภาครัฐได้ใช้งานซอฟต์แวร์ได้อย่างถูกกฎหมายและใช้งบอย่างคุ้มค่า และตั้งเป้าปีหน้าจะมีซอฟต์แวร์ออนไลน์ภาครัฐ อย่างน้อย 10 ประเภท สำหรับการนำร่องอีกอย่าง คือการนำร่อง อี-กัฟเวอร์นเม้นท์สู่ท้องถิ่น เพราะผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยขณะนี้มีแค่ 1 ใน 3 โดยปัจจุบัน สรอ.จะนำร่องอุปกรณ์ สมาร์ท บ็อกซ์ (smart box) สู่ท้องถิ่น ที่ขณะนี้ได้เริ่มนำร่องที่ 4 หมู่บ้าน ใน จ.นครนายก ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลของรัฐด้วยอุปกรณ์ที่ใช้งานง่าย “เราหาข้อมูลความต้องการประชาชนโดยการร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เพื่อวิเคราะห์ความต้องการของประชาชน มีความเป็นไปได้ว่าอาจมีการนำร่องที่ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) คาดว่าสิ้นปีจะมีความคืบหน้าว่าประชาชนต้องการอะไรเพิ่มเติม เพื่อขยายขอบเขตการนำร่องที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น” ดร.ศักดิ์ กล่าว นอกจากนี้ สรอ.จะเปิดตัว กัฟเวอร์นเม้นท์ แอพพลิเคชั่น เซ็นเตอร์ (Government Application Center) เป็นการรวมโมบาย แอพพลิเคชั่นหน่วยงานภาครัฐ เช่น แอพพลิเคชั่นที่เช็กหมายเลข อย. หรือที่ สรอ. หารือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในเรื่องของทะเบียนรถสำหรับตรวจเช็กข้อมูลในการซื้อรถมือสอง เป็นต้น “สิ่งที่เรามองไว้คืออยากให้มีมาตรฐานการเข้าถึงข้อมูลอย่างสะดวกสบายสำหรับประชาชน เพราะบางแอพพลิเคชั่นต้องลงทะเบียน จึงอยากให้สามารถเข้าใช้งานได้ในแอพเดียวครั้งเดียวเป็นต้น ดังนั้น จะจัดเวทีเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนด้วยว่าอยากได้แอพพลิเคชั่นในเรื่องใดบ้าง” ดร.ศักดิ์ กล่าว ปัจจุบันมี โมบาย แอพพลิเคชั่นภาครัฐประมาณ 100 แอพพลิเคชั่น สรอ.จะรวบรวมและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ และเปิดเวทีให้มีส่วนร่วมเพื่อให้รัฐบาลรับทราบและสั่งการให้หน่วยงานมีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อประชาชน โดยแอพพลิเคชั่นจะต้องโดนใจประชาชนมากที่สุด “EGA ไม่ใช่พระเอก เราเป็นพระรอง และในปีหน้า EGA จะตอบโจทย์ว่าประชาชนจะได้อะไรจากรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์” ดร.ศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย ต้องจับตาดูว่าปี 57 นี้ โครงการที่ สรอ.นำร่องในหลาย ๆ เรื่อง จะเห็นผลชัดเจนได้มากน้อยแค่ไหน แต่เชื่อว่า สรอ.เดินมาถูกทางตรงที่ดึงความคิดเห็นภาคประชาชนมาร่วมพัฒนาระบบการดำเนินงานขององค์กร. กัญณัฏฐ์ บุตรดี Kanyanat25@gmail.com

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : สรอ.มั่นใจปี 57 ผุดแอพเพื่อคนไทยเพียบ

Posts related