ลักษณะการเรียนการสอนของระบบการศึกษาไทย ที่ยึดโยงกับรูปแบบเก่า ๆ กับภาพของครูที่ยังเน้นการยืนสอนหน้ากระดานดำ และเน้นให้นักเรียนท่องจำ อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คุณภาพการศึกษาไทยหล่นลงมาอยู่ในอันดับท้าย ๆ ของกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งปัจจุบันมีโรง เรียนหลายแห่ง ฉีกแนวมาเปิดการเรียนการสอนในลักษณะของการศึกษาแบบทางเลือก โดยเน้นกระบวนการการเรียนรู้แบบ Constructionism หรือ การเรียนเพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญาŽ โดยมีหลักพื้นฐานของการจัดการเรียนรู้ด้วย 3 กระบวนการสำคัญ คือ 1. การคิด 2. การลงมือทำ 3. การสะท้อนความคิด ซึ่งที่โรงเรียนดรุณสิกขาลัยก็เป็นอีกหนึ่งโรงเรียนที่มีการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา มีลักษณะของการเรียนผ่านโครงงาน เน้นการเรียนรู้ผ่านการสร้างสิ่งที่เป็นรูปธรรม จากการคิดวางแผน ออกแบบและลงมือสร้างโครงงาน โดยจะใช้เทคโนโลยีมาเสริมการเรียนรู้ผ่านการสร้างมีได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งการเขียนหนังสือด้วยตนเอง 1 เล่ม การสร้างสิ่งประดิษฐ์ การสร้างผลงานศิลปะ โดยจะให้นักเรียนสร้างโจทย์ให้เกิดการเรียนรู้ที่น่าสนใจ เช่น การสร้างโมเดลจำลองเครื่องบินลำหนึ่ง จะต้องมีความรู้ที่จะนำมาประกอบกันเป็นส่วนต่าง ๆของเครื่องบิน เช่น ใบพัด ปีก ลำตัวเครื่องบิน และหาง จะต้องมีลักษณะอย่างไร เครื่องบินสามารถบินได้อย่างไร การยกตัวของเครื่องบินเกิดจากปรากฏการณ์อะไร และจะทำให้โมเดลเครื่องบินสามารถบินได้จริงได้อย่างไร โดยปัจจุบันมีตัวอย่างให้เห็นแล้วในโรงเรียนดรุณสิกขาลัย โรงเรียนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ ที่นำการศึกษาแบบทางเลือกมาใช้กับนักเรียนชั้นป.1-ม.6 เหมือนกับที่มีอยู่แล้วในหลายประเทศของยุโรป นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ผู้อำนวยการใหญ่โรงเรียนดรุณสิกขาลัย อธิบายว่า รูปแบบการศึกษาแบบทางเลือก ไม่ได้มุ่งให้มีการท่องจำและยืนสอนหน้ากระดานดำ แต่ครูต้องมีบทบาทในการสร้างบรรยากาศสำหรับการเรียนการสอน ซึ่งโรงเรียนดรุณสิกขาลัยได้มีการจัดการเรียนการสอนที่เน้นนวัตกรรมและการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาสมัยใหม่เข้ามาใช้เติมเต็มการเรียนรู้ของเด็กให้เกิดประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้การเรียนในห้องเรียนของเด็กไม่น่าเบื่อและจำเจ โดยจะเน้นให้เด็กสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองเป็นการจับกลุ่มแบบคละกัน เรียนแบบคละชั้น ไม่จำเป็นที่เด็กอายุเท่ากันจะต้องเรียนด้วยกัน หรือทำกิจกรรมร่วมกัน แต่เน้นให้เด็กคิดเป็น ทำเป็นด้วยตัวเอง ทั้งนี้หลักการเรียนการสอนจะเน้นกระบวนการให้เด็กรู้จักคิด เมื่อคิดแล้วต้องลงมือทำ หลังจากนั้นจึงมาสะท้อนความคิด ซึ่งจะเป็นการให้นักเรียนได้ฝึกฝนสะท้อนความคิด ระลึกถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านไป ทำให้เกิดความตระหนักในสิ่งที่ได้เรียนรู้ ได้เรียนรู้เชิงประจักษ์ (เห็นได้ด้วยตนเอง) ว่าตนเรียนรู้ได้อย่างไร และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างไร การสะท้อนความคิดนี้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญมาก เพราะเป็นการฝึกฝนกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองของนักเรียน ที่จะค่อย ๆ สั่งสมประสบการณ์จากการคิดทบทวนสิ่งที่ตนเองได้ทำ ดังนั้นในการพัฒนาการศึกษา จะต้องมีวิธีการที่จะสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ให้คนสนใจ และเกิดการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เพราะนวัตกรรมการเรียนการสอนต่อไปน่าจะมีแนวโน้มในทางที่ดีขึ้น เพราะปัจจุบันมีการปฏิรูปการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งต้องมีการจัดการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามสภาพจริง เรียนรู้จากประสบการณ์ผู้เรียนจึงจะทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ ทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมายด้วย. อุทิตา รัตนภักดี

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : สร้างองค์ความรู้ด้วยนวัตกรรมการศึกษา – ฉลาดทันกาล

Posts related