นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจการคลัง เดือนธ.ค. และไตรมาสที่ 4 ปี 56 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณหดตัว เนื่องจากขยายตัวได้ในระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพ ทั้งการใช้จ่ายภายในประเทศและการผลิต เพราะได้รับปัจจัยลบจากสถานการณ์ทางการเมือง ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ประกอบการ รวมถึงการท่องเที่ยวที่ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะจํานวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ เดือน ธ.ค. ลดลงเหลือเพียง 6.7% ต่อปี หรือติดลบ 3.9% ต่อเดือน ขณะที่ ภาคการส่งออกสินค้าคาดว่าเริ่มมีทิศทางปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก ทั้งสหรัฐอเมริกาและยุโรป ส่งผลให้เศรษฐกิจไทย ปี 56 จะขยายตัวเพียง 2.8% ต่อปี ตามที่ สศค.ได้ประเมินไว้ ทั้งนี้ การบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณหดตัว โดยเฉพาะจากการบริโภคสินค้าคงทน สะท้อนได้จากปริมาณจำหน่ายรถยนต์ เดือน ธ.ค.56 ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 อยู่ที่ 28.3% ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 4 ของปี 56 ติดลบ 39.7% ต่อปีขณะที่ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ แม้ว่าขยายตัวได้ 3.1% ต่อปี แต่ส่วนหนึ่งมาจากฐานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของ เดือน ธ.ค. ที่ต่ำ ทำให้ภาพรวมไตรมาส 4 ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ยังคงติดลบ 1%ต่อปี สำหรับการลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอตัวลง โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ติดลบ 14.5% ต่อปี ทำให้ไตรมาส 4 ติดลบ 24.1% ส่วนการลงทุนในหมวดก่อสร้างชะลอตัวจากช่วงก่อนหน้า โดยประเมินจากภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ เดือน ธ.ค. ขยายตัวที่ 9.1% ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 4 ยังคงขยายตัวอยู่ 9.1% ต่อปี แต่ชะลอลงจากไตรมาส 3 ที่ขยายตัว 22% ต่อปี สะท้อนถึงภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มทรงตัว ขณะที่ ภาคการผลิตมีสัญญาณชะลอตัวลง สะท้อนจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค.56 ยังคงติดลบต่อเนื่องที่ 6.1% ต่อปี โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ติดลบในระดับสูง ได้แก่ อาหาร, ยานยนต์, และเฟอร์นิเจอร์และเครื่องประดับ เป็นต้น ส่วนอุตสาหกรรมที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น  ได้แก่ เครื่องหนัง, วิทยุโทรทัศน์, และการปั่นการทอ ซึ่งหากประเมินเป็นไตรมาส พบว่าไตรมาส 4 ปี ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงติดลบ 7.1% ต่อปี ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 25 เดือน อยู่ที่ระดับ 88.3 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม เสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนธ.ค.อยู่ในระดับต่ำที่ 1.7% อัตราการว่างงานอยู่ที่ 0.6% ของกำลังแรงงานรวม สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนธ.ค.อยู่ในระดับสูง ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.8 เท่า สามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : สศค.ชี้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ

Posts related