นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ จากความร้อนแรงของสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุน การท่องเที่ยว ความเชื่อมั่นนักลงทุน และการเบิกจ่ายภาครัฐ โดยหากการชุมนุมกระทบการทำงานของส่วนราชการเกิน 1-2 สัปดาห์ โดยเฉพาะสำนำงบประมาณ จะส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายภาครัฐในช่วงที่เหลือของปี ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 27-28% เพราะอัตราการเบิกจ่ายปัจจุบันอยู่ที่ 15% และจะส่งผลให้จีดีพีไตรมาส 4 โตน้อยกว่าไตรมาส 3 แต่ยังไม่ถึงขั้นติดลบ โดยคาดว่าจะทำให้จีดีพีทั้งปีขยายตัวต่ำกว่า 3% จากเดิมที่ประเมินไว้ที่ 3.7% ดังนั้นสศค.เตรียมปรับประมาณจีดีพีปีนี้ใหม่ในเดือนธ.ค.นี้ ส่วนปี 57 คาดว่าจีดีพีจะโตไม่ต่ำกว่า 4% นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ปัญหาการเมืองไทย เป็นปัญหาความมืดบอดทางปัญญาของสังคม ไม่รู้ทางออกไปทางไหน การแก้ปัญหาขณะนี้ไม่มีใครมีคำตอบที่ชัดเจน ไม่รู้จะจบอย่างไร เปรียบเสมือนผู้บริหารทุกคนรู้ว่าจะทำอย่างไร แก้ปัญหาอย่างไร แต่กลับใช้อารมณ์มากกว่าการใช้เหตุผล ดังนั้นแนวทางแก้ปัญหาต้องพบกันครึ่งทางไม่เช่นนั้นไม่มีทางออก ส่วนการยุบสภาเชื่อว่าเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น หลังจากนั้นจะกลับมาวงจรเดิม นางสุทธาภา อมรวิวัฒน์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ความเสี่ยงทางการเมือง กระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติ อาจส่งผลให้เงินลงทุนใหม่ชะลอการเข้ามาลงทุนในไทย เพราะปัญหาความขัดแย้งในประเทศต่อเนื่องมาถึง 8-9 ปี ขณะเดียวกันกังวลว่าอาจจะทำให้การลงทุนในประเทศตามนโยบายของรัฐ เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ล่าช้าออกไป อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณต่ำกว่าเป้าหมาย โดยในส่วนของธนาคารจะปรับลดจีดีพีจากระดับ 3.4% ลงมาอยู่ที่ 3% นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ปัญหาการชุมนุมทางการเมืองที่ยกระดับไปสู่การปิดล้อมสถานที่ราชการหลายแห่ง จะทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้ต่ำกว่า 3% จากเดิมที่คาดว่าในช่วงไตรมาส 4 นี้ ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาจากการท่องเที่ยว เป็นหลัก แต่ปัจจุบันมี 23 ประเทศได้เตือนนักท่องเที่ยวมาเที่ยวไทย ซึ่ง หากการชุมนุมยืดเยื้อจีดีพีอาจโตต่ำกว่า 4% จากที่คาดว่าโต 5% “ตลาดหุ้นไทยได้รับผลกระทบจากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติที่กังวลต่อสถานการณ์การชุมนุม และ ข่าวการทยอยลดขนาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ หรือคิวอีทำให้เริ่มลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นไทยแล้ว ส่งผลให้มีเงินต่างชาติไหลออก กดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมาเคลื่อนไหวที่ระดับ 32.09 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมอยู่ที่ 31.09 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) วันที่ 27 พ.ย.นี้จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% เพราะถ้าลดดอกเบี้ยจะทำให้เงินทุนไหลออก และคาดว่าถ้าเศรษฐกิจชะลอตัวมากกว่าที่ประเมินไว้กนง.สามารถเรียกประชุมนัดพิเศษได้”

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : สศค.ห่วงม็อบฉุดเศรษฐกิจไตรมาส4ทรุด

Posts related