เพราะงานด้านวิทยาศาสตร์ไม่ได้เป็นข้อจำกัดความสามารถของผู้หญิง วันนี้..จะพาไปรู้จักกับ 2 นักวิจัยหญิงเก่งแห่งไบโอเทคหรือศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ที่เพิ่งได้รับการคัดเลือกหมาด ๆ ให้ได้รับทุนในโครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์Ž ประจำปีนี้ คนแรกก็คือ ดร.จิตติมา พิริยะพงศาŽ ซึ่งทำวิจัยเรื่อง การใช้เทคนิคชีวสารสนเทศในการศึกษาบทบาทและกลไกใหม่ของไมโครอาร์เอ็นเอในการจับกับตำแหน่งเป้าหมายบนยีนโปรโมเตอร์Ž ดร.จิตติมา บอกว่า งานวิจัยนี้ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับทุนในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ โดยเป็นการใช้เทคนิคชีวสารสนเทศ หรือการนำความรู้ด้านชีววิทยาและคอมพิวเตอร์มาใช้ร่วมกัน เพื่อทำนายหาตำแหน่งเป้าหมายของไมโครอาร์เอ็นเอที่อยู่บนลำดับเบสโปรโมเตอร์ของยีนกว่าสามหมื่นยีนในจีโนมคน และจัดตั้งเป็นฐานข้อมูลแบบบูรณาการแห่งแรกในโลกของข้อมูลตำแหน่งเป้าหมายดังกล่าว เผยแพร่ในรูปแบบเว็บไซต์เพื่อให้ผู้ใช้งานเข้าศึกษาและใช้งานได้ฟรี ปัจจุบันมีการใช้งานแล้วกว่า 50 กลุ่มวิจัยจากทั่วโลก ซึ่งงานวิจัยดังกล่าว หากทดลองในห้องปฏิบัติการจะใช้เวลานานและมีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้นนักวิจัยสามารถใช้ฐานข้อมูลที่ทำคัดกรองตำแหน่งเป้าหมาย และโฟกัสยีนที่สนใจได้ทันที ก่อนที่จะนำมาศึกษาต่อไปในเชิงลึก ซึ่งสามารถช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่าย รวมทั้งเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการดำเนินวิจัยอีกด้วย สำหรับนักวิจัยหญิงเก่งอีกหนึ่งคนของไบโอเทคก็คือ ดร.ธริดาพร บัวเจริญŽ ที่ได้รับทุนในสาขาวิทยาศาสตร์เคมี จากงานวิจัยเรื่อง การค้นหาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพจากเชื้อจุลินทรีย์ที่พบในประเทศไทยŽ ดร.ธริดาพร อธิบายถึงงานวิจัยที่ทำอยู่ว่า เป็นการมุ่งพัฒนายาจากสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพของเชื้อจุลินทรีย์ที่ประเทศไทยมีความหลากหลายเป็นจำนวนมาก สารเหล่านี้สามารถนำมาพัฒนาเป็นยารักษาโรค เช่น ยับยั้งเชื้อมาลาเรีย วัณโรค เชื้อราและแบคทีเรียก่อโรคต่าง ๆ และยังสามารถใช้ประโยชน์ทางด้านการเกษตร เช่น การป้องกันการเกิดโรคในพืชได้อีกด้วย ทั้งนี้จากการวิจัยที่ผ่านมา ทีมวิจัยสามารถค้นพบสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนหลายชนิด สำหรับทุนวิจัยสตรีลอรีอัลปีนี้ ยังมีนักวิจัยหญิงเก่ง อีก 2 ท่านที่ได้รับทุนนี้ด้วยคือ ผศ.ทพญ.ดร.ศรัณยา ตันเจริญ จากภาควิชาเภสัชวิทยา คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จากงานวิจัยเรื่อง การผลิตโมโนโคลนอล แอนติบอดีที่จำเพาะกับเปปไทต์ขนาดเล็กสำหรับรักษาโรคปริทันต์อักเสบชนิดลุกลามŽ และ ดร.ศรชล โยริยะ จากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. จากงานวิจัยเรื่อง โครงการการขึ้นรูปฟิล์มท่อนาโนไทเทเนียและการประยุกต์ใช้งานด้านชีวการแพทย์Ž ทุนดังกล่าวจัดอย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 11 ทำให้คนไทยได้มีโอกาสรู้จักนักวิจัยหญิงที่ทำงานด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศมาแล้ว ถึง 44 คน รางวัลนี้ แม้จะมีส่วนในการให้กำลังใจกับนักวิจัยสตรี แต่คงไม่ใช่แค่นั้น เพราะนางสดับพิณ คำนวณทิพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า จากการพูดคุยกับนักวิจัยที่ได้รับทุนที่ผ่านมา มักจะบอกว่ารางวัลนี้เป็น จุดเปลี่ยนของชีวิตŽ จากผู้ที่อยู่เบื้องหลัง ทำงานในห้องแล็บทดลอง กลายเป็นที่รู้จัก และได้รับโอกาสจากหน่วยงานต่าง ๆ มากขึ้น ซึ่งมีส่วนช่วยในการต่อยอดงานวิจัยให้เกิดการใช้งานจริงได้มากขึ้นอีกด้วย. นาตยา คชินทร
4 นักวิจัยสตรีเพื่อวิทยาศาสตร์ลอรีอัล nattayap.k@gmail.com

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : สองนักวิจัยหญิงเก่ง ‘ไบโอเทค’ – ฉลาดคิด

Posts related