ตั้งแต่เทคโนโลยีสมาร์ทโฟนที่ความสามารถน้อง ๆ คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะได้เข้ามามีบทบาทในสังคมของเรามากขึ้น รวมทั้งโมบายแอพพลิเคชั่นบนระบบปฏิบัติการต่าง ๆ ที่ทยอยออกมาช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันของเราให้ในแทบจะทุก ๆ ด้าน แถมประสิทธิ ภาพการทำงานก็พอฟัดพอเหวี่ยงกับคอม พิวเตอร์ตั้งโต๊ะเสียอีก คุณผู้อ่านเคยสังเกตไหมครับว่าเดี๋ยวนี้คุณผู้อ่านและคนรอบตัวใช้เวลาอยู่กับสมาร์ทโฟนเหล่านี้มากกันแค่ไหนและบ่อยกันแค่ไหน ผมคุยกับลูกศิษย์ในภาควิชาเทคโน โลยีสารสนเทศและการสื่อสารของผม บางคนตอบผมได้ทันทีโดยแทบจะไม่มีการหยุดคิดเลย ว่าวัน ๆ หนึ่งเขาใช้เวลาอยู่กับมือถือมากกว่าการทำกิจกรรมอย่างอื่นทั้งหมด ไล่ตั้งแต่ตื่นนอนก็มีนาฬิกาปลุก การแจ้งเตือนกิจกรรมที่ต้องทำ อ่านปฏิทินว่าวันนี้มีงานอะไรบ้าง เขียนบันทึก คุยกับเพื่อนทางไลน์ อ่านข่าวสารทางทวิตเตอร์ ตามข่าวเพื่อนในเฟซบุ๊ก แชร์รูปหรือวิดีโอลงอินสตาแกรม เล่นเกมออนไลน์ รวมไปถึงการอ่านข่าวสารบันเทิงต่าง ๆ บนเว็บไซต์หรือเว็บบอร์ดอินเทอร์เน็ต คำถามที่น่าสนใจต่อไป คือ แล้วจำนวนคนใช้สมาร์ทโฟนกับจำนวนคนใช้คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะล่ะ อันไหนมีตัวเลขหรือสัดส่วนมากกว่ากันในความเป็นจริง ที่สหรัฐอเมริกา บริษัทวิจัย Enders Analysis ได้ทำการสำรวจและวิจัยในประเด็นนี้อย่างจริงจัง โดยรวบรวมตัวเลขการใช้งานอินเทอร์เน็ตของคนในสหรัฐอเมริกา ผลการวิจัยที่ได้ชี้ชัดว่าคนในประเทศใช้เวลาไปกับอินเทอร์เน็ตทางโทรศัพท์มือถือเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ตรงกันข้ามกับปริมาณการใช้งานอินเทอร์เน็ตทางคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะที่ค่อย ๆ ลดลง ถึงตรงนี้คุณผู้อ่านก็อาจไม่รู้สึกแปลกใจอะไรใช่ไหมครับ หลาย ๆ คนอาจจะยังคิดด้วยซ้ำว่ามันก็แค่กระแสชั่วครั้งชั่วคราว ยังไงซะจำนวนคนใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะก็ต้องมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญในระยะยาวอยู่ดี ประเด็นสำคัญมันอยู่ที่ตรงนี้ล่ะครับ ยิ่งทางบริษัทเก็บผลการสำรวจมาเรื่อย ๆ ต่อเนื่องทุก ๆ เดือนตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 2013  จนมาเดือนมกราคมในปี ค.ศ. 2014 นี้ สิ่งที่พบคือจำนวนคนใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านทางมือถือนั้นมีถึง 55% ซึ่งมากขึ้นจนแซงหน้าจำนวนคนใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านทางคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะไปเรียบร้อยแล้ว ไม่เพียงเท่านั้นครับทางบริษัทยังค้นพบด้วยว่าในจำนวนผู้คนที่ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือนั้น ส่วนใหญ่นิยมใช้อินเทอร์เน็ตผ่านทางแอพพลิเคชั่นมากกว่าผ่านเว็บบราว เซอร์ของมือถือเอง เหตุผลง่าย ๆ ก็เพราะผู้ผลิตเหล่านั้นทำแอพพลิเคชั่นออกมาตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มผู้ใช้มากกว่านั่นเอง ตัวเลขนี้ไม่เพียงแต่ให้ภาพที่ชัดเจนถึงบทบาทของโทรศัพท์มือถือที่มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ยังบ่งบอกถึงการเปลี่ยน แปลงของโลกเทคโน โลยีในศตวรรษที่ 21 ของเราด้วยนะครับ ว่ามันถูกเปลี่ยนแปลงไปด้วยอัตราเร่ง หรือเปลี่ยนแปลงด้วยอัตราความเร็วที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ  แบบก้าวกระโดด ดูเอาจากจำนวนแอพพลิเคชั่นบนแอพสโตร์และเพลย์สโตร์ของสองระบบปฏิบัติการยักษ์ใหญ่อย่างไอโอเอสและแอนดรอยด์สิครับ ตอนนี้มีจำนวนนับหมื่นนับแสนรองรับทั้งสมาร์ทโฟน แท็บเล็ตคอมพิวเตอร์ และสมาร์ททีวี แม้ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะเปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา แต่เหล่าโปรแกรมเมอร์และนักพัฒนาไม่ว่าจะแบบแอพฟรีหรือแอพเสียเงินก็ไม่ย่อท้อ ยังคงวิ่งไล่การเปลี่ยนแปลงแข่งขันกันพัฒนา อัพเดท และออกแอพรุ่นใหม่ ๆ กันอยู่ตลอดเวลา ช่องทางการเผยแพร่แอพพลิเคชั่นผ่านแอพสโตร์และเพลย์สโตร์นี้ ถือเป็นช่องทางที่เป็นความหวังใหม่สำหรับคนรักการเขียนโปรแกรมในยุคโลกาภิวัตน์และโลกไร้พรม แดนนี้จริง ๆ ครับ ถ้าเป็นแต่ก่อนการจะทำแอพพลิเคชั่นอะไรสักอย่างให้เผยแพร่ใช้งานกันได้ทั่วโลกนี้ไม่ใช่ง่าย ๆ ถ้าไม่ใช่บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำที่มีอำนาจต่อรองระดับโลก แต่เดี๋ยวนี้มันเปลี่ยนไปแล้วครับ ต่อให้ไม่ได้เป็นพนัก งานบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ ไม่ได้เรียนจบมาทาง การเขียนโปรแกรม ไม่ได้รู้จักหรือมีเครือข่ายกับบริษัทใหญ่โต ใช้แค่ความสามารถของตัวเองสร้างแอพพลิเคชั่นขึ้นมา ส่งให้ทางแอพสโตร์และเพลย์สโตร์พิจารณาได้เหมือน ๆ กับที่คนอื่น ๆ ทั่วทั้งโลกทำกัน ถ้าแอพที่เราทำขึ้นผ่านมาตรฐานที่กำหนด มันก็จะได้ขึ้นไปปรากฏให้ผู้คนทั่วโลกได้ดาวน์โหลดไปลองใช้งานได้แล้ว เมื่อรู้ข้อมูลอย่างนี้แล้ว ต่อไปใครคิดจะพัฒนาเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นโดยสนใจแค่ให้มันทำงานได้ดีบนคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ไม่ได้ให้ความสนใจว่ามันจะทำงานได้ดีหรือดูสวยงามน่าใช้บนหน้าจอมือถือหรือไม่ ใครคนนั้นก็คงต้องกลับมาทบทวนเปลี่ยนความคิดของตัวเองใหม่แล้วล่ะครับ ในเมื่อเทคโนโลยีมือถือก้าวแซงหน้าคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะไปแล้ว แถมยังมีแนวโน้มจะเร่งเครื่องทิ้งห่างไปเรื่อย ๆ อีก การจะพึ่งพาอินเทอร์เน็ตทำอะไรโดยละเลยกลุ่มผู้ใช้เกินกว่าครึ่งนี้ไปคงไม่ใช่ความคิดที่ดีแน่ในยุคที่การแข่งขันทางเทคโนโลยีเปิดกว้างให้กับผู้มีความสามารถทั่วโลกเช่นนี้ แล้วคุณผู้อ่านล่ะครับจะเลือกแบบไหน ระหว่างการอยู่กับรูปแบบอำนาจและการผูกขาดเดิมที่แม้จะยังคงยิ่งใหญ่อยู่ แต่ก็ถูกลดทอนความสำคัญลงไปเรื่อย ๆ กับการลุกขึ้นมาใช้ความสามารถของตัวเองเป็นแรงให้ออกวิ่งไล่ตามควบคู่ไปกับโลกที่ไม่หยุดหมุนนี้ สู่อนาคตที่เปิดกว้างรออยู่ข้างหน้า. ผศ.ดร.ชุติสันต์ เกิดวิบูลย์เวช หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต chutisant.k@rsu.ac.th

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : สังคมก้มหน้ากับสมาร์ทโฟน – รอบรู้ไอที รอบโลกเทคโนโลยี

Posts related