มารีตา เช็ง สาวน้อยวิศวกรอายุ 24 ปี ได้ตั้งบริษัททำหุ่นยนต์เพื่อช่วยคนพิการจนได้รับรางวัล คนรุ่นใหม่แห่งออสเตรเลียประจำปี โดยเฉพาะสาขาวิทยาศาสตร์มีอะไรน่าสนใจ จนนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียชื่นชมและมอบรางวัลให้ด้วยความภูมิใจ สมัยเป็นเด็ก มารีตา เช็งต้องทำความสะอาดห้องด้วยตนเอง เธอก็เลยจินตนาการตั้งแต่สมัยเด็กว่าน่าจะมีกองทัพหุ่นยนต์มาช่วยเธอทำงานเพราะงานทำความสะอาดห้องเป็นงานหนักและอาจจะสกปรกสักหน่อยก็เลยทำให้เธอทำเช่นนั้น “ฉันมองรอบ ๆ ตัวและอยากจะได้หุ่นยนต์มาช่วยกัน ภาระงานทำความสะอาดห้องต่างๆ ฉันก็เลยคิดว่าจะต้องมีส่วนในการสร้างหุ่นยนต์เป็นจริงให้ได้” มารีตา เช็ง ถือเป็นนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ที่อัจฉริยะที่สุดคนหนึ่งของออสเตรเลีย เธอมีความรู้สึกว่าจะต้องใช้พลังสมองให้เป็นประโยชน์ให้ได้ ซึ่งล่าสุดเธอก็สามารถสร้างแขนมนุษย์เทียมได้ ซึ่งสามารถปฏิวัติวงการคนแขนขาพิการได้ทั่วโลก มารีตา เช็ง ได้มีโอกาสพูดให้กำลังใจกับผู้สนใจเข้ามาฟังจำนวนมากที่ โอเปรา เฮ้าส์ ที่เมืองซิดนีย์ ออสเตรเลีย ซึ่งก็มักจะย้ำว่าคนเราสามารถทำอะไรก็ได้ด้วยความมั่นใจ ในระยะหลัง แม้ด้วยวัยเพียง 14 ปี เธอก็สามารถพูดปาฐกถาบนเวทีด้วยความมั่นใจและให้กำลังใจโดยเฉพาะเด็กผู้หญิงเพื่อส่งเสริมให้เด็กผู้หญิงได้ชอบการเรียนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตั้งแต่เด็ก ๆ โดยเธอได้มีโอกาสพูดบนเวทีถึง 150 ครั้งแล้ว ในประเทศออสเตรเลีย วิศวกรหญิงมีเพียง 11% ซึ่งก็พอ ๆ กับสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีแค่ 14% เช่นกัน ผมเข้าใจว่าประเทศไทยน่าจะน้อยกว่านี้แต่ในระยะหลังผู้หญิงเรียนวิศวกรรมศาสตร์มากขึ้นเยอะ ซึ่งเธอก็รู้สึกว่าถ้าหากเด็กผู้หญิงรุ่นใหม่จะเรียนทางวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีมากขึ้นจะเป็นเรื่องที่ดีน่าส่งเสริม “สมัยเดิม ๆ ใครก็คิดว่าการเรียนทางวิศวกรรมศาสตร์เป็นเรื่องของผู้ชาย แต่สำหรับเธอแล้ว เธอมักจะตอบเสมอว่า เธอเรียนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้วสนุกอย่างไร และก็ชักชวนให้เด็กผู้หญิงมาเรียนในสาขานี้ให้มากขึ้นและเธอก็ตั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เรียกว่า “โรโบกอลส์” หรือ สาวหุ่นยนต์ขึ้นมา แต่ช่วง 4 ปีเท่านั้น กลุ่มของเธอก็ขยายไปถึงประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ซึ่งเธอก็ได้สอนให้นักเรียนและนักศึกษาหญิงไปกว่า 8,000 คนแล้ว ด้วยการทำสัมมนาตามอีเวนต์หรืองานแสดงต่าง ๆ จำนวนมาก มารีตา เช็ง จบปริญญาในสาขาแมคคาทรอนิกส์และวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และมีบริษัทต่าง ๆ เข้ามาติดต่อและเสนองานให้ทำเยอะมากหลายแห่ง แต่เธอไม่สนใจ กลับตัดสินใจตั้งบริษัทชื่อ ทูมาร์ รอบอติกส์ หรือ บริษัทหุ่นยนต์ ซึ่งมุ่งเน้นสร้างหุ่นยนต์สวย ๆ และสามารถที่จะช่วยมนุษย์ทำงานประจำวันได้ดี ขณะนี้บริษัทมีทีมงานที่สามารถสร้างแขนกลอัจฉริยะขึ้นที่เรียกว่า จีวา (Jeva) ซึ่งสามารถช่วยคนแขนพิการ โดยติดตั้งกับรถเข็น สามารถสื่อได้โดยใช้เสียงและสามารถจำคำพูดและทำงานประเภทซ้ำ ๆ ได้ดี ชีวิตของมารีตา เช็งได้รับอิทธิพลจากที่บ้านตั้งแต่เด็ก เพราะอยู่กับคุณแม่คนเดียว ไม่มีพ่อ และคุณแม่เป็นคนทำความสะอาดในโรงแรม ซึ่งเธอก็เห็นคุณแม่ทำงานหนักอยู่กับการทำความสะอาดห้องในโรงแรมตลอดเวลา ก็เลยทำให้เธอคิดถึงเทคโนโลยีซึ่งจะต้องสร้างหุ่นยนต์ให้ได้ในอนาคตและเธอก็รักและชอบงานเทคโนโลยีแบบนี้ด้วย ก็เขียนบทความเหล่านี้ให้นักเรียนหญิงไทย เพื่อให้กำลังใจในการเรียนต่อของด้านสาขาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีจะได้เป็นนักประกอบการทางธุรกิจเช่นเธอ ตั้งแต่อายุ 24 ปีผมว่าโอนะ. ดร.บุญมาก ศิริเนาวกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด boonmark@stamford.edu

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : สาวน้อยนักประกอบการแห่งปี – โลกาภิวัตน์

Posts related